ในเวลาที่มีสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้ง สารเคมีชนิดแรกที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นเจ้าสารเคมีที่มีชื่อว่า
โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรืออีกชื่อที่เราน่าจะรู้จักดี นั่นคือ โซดาไฟนั่นเอง สารชนิดนี้เป็นสารที่อันตราย
มีฤทธิ์กัดกร่อนอย่างแรง โซเดียมไฮดรอกไซด์ทำงานโดยการกัดกร่อนสิ่งอุดตัน ทำให้ท่อน้ำของเราสะอาด น้ำไหลสะดวกยิ่งขึ้น
โซเดียมไฮดรอกไซด์
(หรือโซดาแผดเผาหรือ Caustic
soda) มีสูตรเคมีเป็น NaOH มีน้ำหนักโมเลกุล
40 amu
โซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นสารประกอบไอออนิกในรูปของแข็งสีขาว
ดูดน้ำจากอากาศได้ จุดหลอมเหลว 318.4 ๐C ละลายน้ำได้ดี
ให้สารละลายมีสมบัติเป็นเบส
โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโซดาไฟ
ที่มา : www.ท่อตัน.ws/wp-content/uploads/2014/04/SodiumHydroxide.jpg
การใช้ประโยชน์จากโซเดียมไฮดรอกไซด์
โซเดียมไฮดรอกไซด์ ใช้ในอุตสาหกรรมทำสบู่ ผลิตผงชูรส ในการผลิตเยื่อและกระดาษ การย้อมสี
และการกลั่นปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอื่นได้เช่น
ผสมสารเคมี ผงซักฟอก สิ่งทอ
และในการทำแร่บอกไซด์ให้บริสุทธิ์สำหรับการผลิตโลหะและอลูมิเนียม
ในขณะที่เราใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ในการกำจัดสิ่งอุดตันในท่อ
หากเราใช้ผิดวิธี หรือมีการป้องกันตัวเองไม่ดี สารชนิดนี้ก็อาจก่ออันตรายกับร่างกายเราได้
เพราะสารชนิดนี้มีคุณสมบัติกัดผิวหนังอย่างรุนแรง
ด้วย และไอระเหยของสารนี้ก็มีอันตรายอย่างแรงเช่นกัน
ด้วย และไอระเหยของสารนี้ก็มีอันตรายอย่างแรงเช่นกัน
อาการแสดงพิษและการวินิจฉัย
ระบบหายใจ (จากการสูดดมไอระเหยเข้าไป)
- การหายใจเอาไอระเหยที่ขึ้นจากท่อหลังการเทสารลงไป ทำให้หายใจติดขัด ลำบาก ทำลายเนื้อเยื่อปอด
- คอบวม
ตา, หู, จมูก, และ ลำคอ
- ทำให้เจ็บปวดอย่างรุนแรงและเป็นแผลพุพองในลำคอ จมูก ตา หู ริมฝีปาก และลิ้น
- รุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
- ผู้ที่เคยได้รับสารเข้าทางปาก อาจมีการพัฒนากลายเป็นมะเร็งทางเดินอาหารได้ในภายหลัง 12-42 ปี
กระเพาะอาหาร และลำไส้
- ถ้ารับประทานเข้าไป จะระคายเคืองหลอดอาหารอย่างรุนแรง เป็นแผลไหม้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- อาเจียน
- อาเจียนเป็นเลือด
- มีเลือดออกในอุจจาระ
หัวใจและหลอดเลือด
- ความดันต่ำอย่างรวดเร็ว
- หลอดเลือดตีบ
ผิวหนัง
- ระคายเคือง จนถึงผิวหนังไหม้พุพอง
- ผิวหนังและเนื้อเยื่อข้างใต้ผิวหนังตาย
- หากสัมผัสสารซ้ำๆเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการแห้งแตก เกิดอาการอักเสบของผิวหนัง
- นอกจากนี้ผิวหนังที่ถูกสารกัดอย่างรุนแรงก็อาจเป็นมะเร็งได้
เลือด
- ความเป็นกรดด่างเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง นำไปสู่การทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย
ความรุนแรงของการเกิดพิษขึ้นกับปริมาณ
และความเข้มข้นของสารที่ร่างกายได้รับ
รวมทั้งการเจือจางและการสะเทินด่างอย่างรวดเร็ว
อาจเกิดการทำลายอย่างรุนแรงที่เนื้อเยื่อปาก ลำคอ ตา ปอด หลอดลม
จมูกและกระเพาะอาหาร การทำลายหลอดลมและกระเพาะอาหารจะยังคงอยู่อีกหลายสัปดาห์
ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ถึงแม้เวลาผ่านไปแล้วเป็นเดือนหลังการรับประทานเข้าไป
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อสูดดมสารเข้าไป
ถ้าสูดดมสารชนิดนี้เข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้การช่วยหายใจ หรือถ้าผู้ป่วยหายใจลำบากต้องทำการให้ออกซิเจน
เมื่อสัมผัสสาร
ในกรณีที่สารถูกผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถอดเสื้อผ้าและรองเท้าที่เปื้อนสารหลังจากนั้นให้ ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
เมื่อสารเข้าตา
ในกรณีที่สารเข้าตา ให้รีบล้างด้วยน้ำปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที และต้องแน่ใจว่าได้ล้างตาอย่างเพียงพอ โดยวิธีล้างให้ใช้นิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้าง
หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
เมื่อกลืนกินสารเข้าไป
เมื่อกลืนกินสารเข้าไป ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ยังมีสติอยู่ให้ใช้น้ำบ้วนปาก และไปพบแพทย์ทันที ห้ามทำให้อาเจียน
หากจำเป็นต้องใช้สารนี้ สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าหายใจเอาฝุ่นสารเข้าไป ระวังอย่าให้สารเข้าตา, โดนผิวหนัง, หรือเสื้อผ้า หลีกเลี่ยงการได้รับสารเป็นเวลานานหรือซ้ำหลายครั้ง
สารที่เข้ากันไม่ได้
- ทำปฏิกิริยากับโลหะ เกิดแก๊สไฮโดรเจน ซึ่งเผาไหม้และระเบิดได้
- เข้ากันไม่ได้กับสารออกซิไดส์อย่างแรง กรดอย่างแรง สารอินทรีย์ อะลูมิเนียม ดีบุก สังกะสี และสารประกอบไนโตร รวมทั้งสารอินทรีย์ที่มีธาตุฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบ ทำให้ลุกไหม้และระเบิดได้
- ดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ
การเก็บรักษา
- เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดฝาแน่นเรียบร้อย ให้ห่างไกลจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรใช้ภาชนะที่ทำจากอลูมิเนียม สังกะสี ดีบุก ตะกั่ว แก้ว ในการบรรจุ
- ไม่เก็บในที่มีความชื้น และให้ห่างไกลจากน้ำ
- เวลาเก็บตั้งภาชนะให้ตรง เก็บในบริเวณที่แห้งและมีอากาศถ่ายเทสะดวก
- เวลาเปิดจุกควรเปิดด้วยความระมัดระวัง ป้องกันแรงดันภายในภาชนะ
การกำจัด
- สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เจือจางปริมาณน้อยสามารถเททิ้งลงอ่างน้ำ แล้วเปิดน้ำตามปริมาณมากๆ แต่ถ้ามีปริมาณมากควรสะเทินเสียก่อนค่อยเททิ้ง
- ไม่ควรเททิ้งบนพื้นดิน และไม่ทิ้งร่วมกับขยะในบ้าน
วิธีใช้สารเพื่อความปลอดภัย
- ขณะใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์เพื่อขจัดสิ่งอุดตัน ต้องสวมถุงมือและแว่นนิรภัยป้องกันการกระเด็นเข้าตา
- หลีกเลี่ยงการสูดดมไอที่เกิดขึ้น
- ถ้าใช้แล้วยังไม่ได้ผลท่อยังอุดตันอยู่ อย่าพยายามใช้ตัวปั๊มดันสิ่งอุดตันลงไป ซึ่งอาจจะทำให้สารเคมีในท่อถูกดันกลับขึ้นมาด้านบน
- ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อมาใช้เพิ่มเข้าไป เพราะการใช้สารเคมีต่างชนิดผสมกันอาจทำให้เกิดแก๊สพิษหรือเกิดปฏิกิริยาแล้วดันกลับขึ้นมาด้านบนได้
- ถ้าสารเคมีดังกล่าวไม่ได้ผลท่อยังคงมีการอุดตันอยู่ควรเรียกช่างมาซ่อม โดยต้องบอกด้วยว่าใช้ผลิตภัณฑ์อะไรไปแล้วเพื่อให้ช่างหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายแก่ตัวช่างเอง
- การเก็บสารเคมีดังกล่าวควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- ถ้าผลิตภัณฑ์ในการกำจัดสิ่งอุดตันมีการกล่าวอ้างว่าไม่มีการกัดกร่อน ผลิตภัณฑ์นั้นต้องบอกองค์ประกอบให้ชัดเจน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถ้ามีการสูดดมสารในความเข้มข้นสูงหรือการกินเข้าไป
- ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีการนำมาใช้เป็นสารขจัดสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้งได้แก่ พวกเอ็นไซม์และจุลินทรีย์ มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่อาจไม่ได้ผลเร็วอย่างที่คาดหวัง
- การป้องกันการอุดตันของท่อแนะนำให้ใช้น้ำต้มเดือด หรือผงฟูหนึ่งกำมือและน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยเทลงในท่อน้ำทิ้งสัปดาห์ละครั้งซึ่งจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสารขจัดสิ่งอุดตุนในท่อน้ำทิ้ง รวมทั้งปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ที่มาข้อมูล :
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. (2004). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SODIUM HYDROXIDE). สืบค้นเมื่อ 25 ,มกราคม, 2560,จากhttp://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst1310-73-2.html
- ศิลปากร, มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). สารเคมีในชีวิตประจำวัน (สารขจัดสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้ง). สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม, 2560,จาก http://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d012.htm