วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

สารเคมีในห้องน้ำ : น้ำยาซักผ้าขาว

ที่มา : http://www.haaksquare.com/th/node/16589
ในยามที่เสื้อผ้าชุดเก่งของเราเปื้อนคราบต่างๆ ที่ซักออกยากนอกจากจะใช้ผงซักฟอกขจัดคราบแล้ว   หนึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้า  ที่เหล่าคุณแม่บ้านทั้งหลายน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คงจะหนีไม่พ้น “น้ำยาซักผ้าขาว ซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่บ้านจะใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับผงซักฟอก เพื่อเพิ่มพลังขจัดคราบสกปรกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคราบหมึก คราบอาหาร   คราบชากาแฟ  เพื่อให้เสื้อผ้าขาวสะอาดสดใส  ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปอยู่ในรูปของเหลวบรรจุขวดพลาสติกสวยงาม แต่คุณแม่บ้านเคยทราบหรือไม่ว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้   มีสารเคมีชนิดใดเป็นส่วนผสมในการออกฤทธิ์ขจัดคราบ  ทำความสะอาดเสื้อผ้า และมีความปลอดภัยในการใช้เพียงใด
สารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ    ในน้ำยาซักผ้าขาวที่ผู้ผลิตนิยมใช้คือ    “โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite)” ซึ่งนอกจากจะมีคุณสมบัติในการขจัดคราบเปื้อนและฟอกผ้าขาว  ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ด้วย  ในบางกรณี  จึงมีการนำน้ำยาซักผ้าขาวมาใช้ประโยชน์เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับราดพื้น 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อ IUPAC : Sodium hypochlorite
สูตรเคมี : NaOCl
สูตรโครงสร้าง :
มวลโมเลกุล : 74.44 AMU

ลักษณะทางกายภาพ

สถานะ : ของเหลว
จุดเดือด/ข่วงการเดือด : 111 oC  ที่ความดัน 760 mmHg
จุดหลอมเหลว/ช่วงการหลอมเหลว : -30 ถึง -20 o
ความดันไอ : 17.5 mmHg  ที่ 20 oC  
ความถ่วงจะเพาะ/ความหนาแน่น : 1.25 g/cm3
การละลายน้ำ:  เมื่อละลายน้ำสารชนิดนี้สามารถผสมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ

อาการพิษ

สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่อยู่ในน้ำยาซักผ้าขาว มีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรง คุณแม่บ้านที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะควรเก็บให้พ้นมือจากเจ้าตัวเล็กทั้งหลาย    เพราะหากเผลอรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุที่ปากและลำคอ ปวดท้องและแผลเปื่อยตามบริเวณทางเดินอาหาร
ในกรณีที่หากเผลอเทหกจากขวดรดมือโดยตรง  อาจเกิดการระคายเคืองได้ปานกลางและมีผื่นแดงได้บ้าง  แต่หากกระเด็นเข้าตาแล้วจะเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง  หากสูดดมโดยตรงจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของทางเดินหายใจได้
การก่อมะเร็ง
สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่มีรายงานการก่อมะเร็งโดยการใช้น้ำยาซักผ้าขาวที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นองค์ประกอบ

มาตรการปฐมพยาบาล

กรณีสูดดมสารเข้าไป
ในกรณีที่ผู้ป่วยสูดดมสารเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์  ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้การช่วยหายใจ  ถ้าผู้ป่วยหายใจลำบากทำหารให้ออกซิเจน หลังจากนั้นไปพบแพทย์
กรณีเมื่อสัมผัสสาร
ในกรณีที่สารถูกบริเวณผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่โดนสารด้วยน้ำปริมาณมากเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  ถอดเสื้อและรองเท้าที่เปื้อนสารออก  หลังจากนั้นไปพบแพทย์
กรณีเมื่อสารเข้าตา
ในกรณีที่สารเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำปริมาณมากเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  และต้องแน่ใจว่าได้ล้างตาอย่างเพียงพอโดยใช้นิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้าง  หลังจากนั้นไปพบแพทย์
กรณีเมื่อกลืนกินสาร
เมื่อกลืนกินสารเข้าไป ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ยังมีสติอยู่ให้ใช้น้ำบ้วนปาก หลังจากนั้นไปพบแพทย์ ห้ามทำให้อาเจียน

ข้อปฏิบัติการใช้สารและการเก็บรักษา

ข้อปฏิบัติการใช้สาร
อย่าหายใจเอาไอระเหยสารเข้าไป  ระวังอย่าให้สารเข้าตา, โดนผิวหนัง, หรือเสื้อผ้า.  หลีกเลี่ยงการได้รับสารเป็นเวลานานหรือซ้ำหลายๆครั้ง

โครงสร้างทางเคมีและกลไกการขจัดคราบ

โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีโครงสร้างทางเคมีคือ      NaOCl      ในน้ำยาซักผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์ จะแตกตัวออกเป็น Na+ และ ClO-  ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเกลือ NaOH และ HClO โซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารออกซิแดนท์ที่รุนแรงเกิดการปลดปล่อยแอคทีฟออกซิเจน [O] ที่เป็นตัวการในการฟอกขาวให้กับเสื้อผ้านั่นเอง
NaOCl + H2O <-----> NaOH + HOCl <-----> Na+ + OH- + H+ + OCl-
ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวบางชนิดอาจมีส่วนผสมของเกลือ   NaOH    อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อทำให้สารมีความเป็นด่าง  เพราะในบางครั้งหากน้ำที่ใช้ตามบ้านมีความเป็นกรดเล็กน้อย จะไปทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เกิดเป็นแก๊สคลอรีนซึ่งมีความเป็นพิษและยังลดประสิทธิภาพการทำงานของน้ำยาซักผ้าขาว
NaOCl + 2HCl ----->Cl2 + H2O + NaCl
การเติมเกลือ NaOH จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวมากขึ้น แต่มีข้อควรระวังการใช้ ในกรณีที่เติม NaOH ลงไป เพราะจะทำให้น้ำยาซักผ้าขาวมีความเป็นด่างสูงมากขึ้นจากการเติมเกลือดังกล่าว   ประกอบกับการมีโซเดียมไฮโปคลอไรท์  จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงขึ้น หากหกโดนเสื้อผ้า โดยตรงอาจจะกัดกร่อนทำให้เสื้อผ้าขาดเป็นรูได้  ดังนั้นจึงต้องอ่านฉลากแนะนำการใช้ให้ครบถ้วนถึงวิธีการใช้และปริมาณน้ำที่ใช้ในการการเจือจาง เพื่อความปลอดภัยในการใช้และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

การใช้เป็นน้ำยาซักผ้าขาว

สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวมีอยู่ประมาณ 3 - 6% ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและระยะเวลาการเก็บ เนื่องจากโซเดียมไฮโปคลอไรท์ไม่ค่อยเสถียร เสื่อมสลายไปตามระยะเวลา โซเดียมไฮโปคลอไรท์ออกฤทธิ์ขจัดคราบเปื้อนออกจากเสื้อผ้าได้ดี โดยเฉพาะที่ทำจากผ้าฝ้าย  นอกจากนี้ยังจัดเป็นน้ำยาซักผ้าขาวเพียงชนิดเดียวที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียไปด้วยในตัว ความเป็นพิษโซเดียมไฮโปคลอไรท์ในน้ำยาซักผ้าขาวไม่เพียงแต่จะมีความสามารถในการขจัดคราบเปื้อนบนเสื้อผ้าแล้ว       สารนี้ยังมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง     เป็นผลมาจากคุณสมบัติในการเป็นสารออกซิแดนท์ที่แรง  ดังนั้นจึงต้องระวังการสัมผัสถูกผิวหนัง การกระเด็นเข้าตาหรือการสูดดมโดยตรงจากขวดผลิตภัณฑ์

ข้อควรระวังการใช้

  • นอกเหนือไปจากการที่ต้องระวังการสัมผัสผลิตภัณฑ์โดยตรงแล้ว    หากในบ้านมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น ๆ อยู่      ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่เทสารเหล่านี้ปนกัน โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีกรดเป็นองค์ประกอบ  เช่น  น้ำยาล้างห้องน้ำบางชนิด เพราะกรดจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์  เกิดแก๊สคลอรีนในระหว่างการผสมและหากเกิดการสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดพิษ      ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ       และยังทำให้ประสิทธิภาพในการขจัดคราบของน้ำยาซักผ้าขาวที่มีการปนเปื้อนของกรดนั้นลดลง
  • ต้องระวังการผสมกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนียเป็นองค์ประกอบ  เช่น  ในน้ำยาเช็ดกระจก   เพราะจะทำให้เกิดแก๊สคลอรามีน (chloramine) ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นกัน  และไม่ควรนำมาทำความสะอาดเสื้อผ้าที่เปื้อนปัสสาวะ  เพราะในปัสสาวะมีแอมโมเนียอยู่
  • ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้งควรอ่านฉลากการใช้ให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น

การเก็บรักษา

บางครั้งคุณแม่บ้านบางท่านอาจอยากเปลี่ยนขวดภาชนะบรรจุให้สวยงามขึ้น  ก็สามารถทำได้แต่ต้องถ่ายเก็บในภาชนะพลาสติกประเภท PVC อย่าถ่ายลงหรือเจือจางผสมน้ำในภาชนะประเภทโลหะหนัก  เช่น  กะละมังโลหะเพราะจะทำปฏิกิริยากันได้  เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท นอกจากนี้ควรเก็บให้พ้นจากความร้อน แสงแดด เพราะผลิตภัณฑ์จะมีอายุการใช้งานและประสิทธิภาพต่ำลง

ที่มาข้อมูล :

  • เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). สารเคมีในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ภายใน ห้องน้ำและครัว(น้ำยาซักผ้าขาว). สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม, 2560,จากhttp://www.neutron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=1686&Itemid=4&limit=1&limitstart=2
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. (2004). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SODIUM HYPOCHLORITE SOLUTION). สืบค้นเมื่อ 6 ,มกราคม, 2560,จาก http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst7681-52-9.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น