วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

สารเคมีในห้องน้ำ : น้ำยาบ้วนปาก

ที่มา : http://newsupdate.thaiautocars.com/2016/02/blog-post_869.html
สุขภาพในช่องปากเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกๆคน ดังนั้นเราจึงพยายามในการรักรักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาด สุขภาพดี ไม่มีกลิ่นปาก ในปัจจุบันนอกจากน้ำยาบ้วนปากเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากที่นิยมใช้เพื่อช่วยเสริมการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากนอกเหนือไปจากการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน น้ำยาบ้วนปากมีอยู่หลากหลายชนิดให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ทั้งแบบชนิดที่มีรสหอม    เพื่อช่วยทำให้ช่องปากสดชื่น ชนิดที่มีฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ และชนิดที่มีสารระงับเชื้อเพื่อช่วยลดปริมาณคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดกลิ่นปาก ผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้นมักมีสารต้านเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนผสมนอกเหนือไปจากการมีรสหอมน่าใช้ เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาโรคเหงือกและฟันและปัญหากลิ่นปากได้ดีขึ้น โดยหนึ่งในสารระงับเชื้อที่พบว่ามีการเติมลงในผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากคือ ไธมอล

ข้อมูลทั่วไปของไธมอล (thymol)

ชื่อ IUPAC : 5-Methyl-2-(propan-2-yl)phenol
ชื่ออื่น : 5-Methyl-2-(1-methylethyl)phenol ; 1-Methyl-3-hydroxy-4-isopropylbenzene
สูตรเคมี : C10H14O
สูตรโครงสร้าง :

ที่มา :http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.21105998.html
มวลต่อโมล : 150.22 g/mol

สมบัติทางเคมีและกายภาพ

ลักษณะ : เป็นของแข็ง ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ไธมอลเป็นสารที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ

ข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย


เมื่อถูกผิวหนัง : ระคายเคืองบริเวณที่โดนสาร
เมื่อเข้าตา : เกิดการระคายเคืองตา  
เมื่อกลืนกิน : ระคายเคืองต่อเยื่อบุในปาก หลอดลม หลอดอาหารและระบบลำไส้
ผลต่อระบบในร่างกาย : ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจผิดปกติ เป็นพิษต่อ ไต , ตับ 

ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ : ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ

การปฐมพยาบาล

เมื่อสูดดม : ในกรณีที่ผู้ป่วยสูดดมสารเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์  ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้การช่วยหายใจ  ถ้าผู้ป่วยหายใจลำบากทำหารให้ออกซิเจน หลังจากนั้นไปพบแพทย์
เมื่อถูกผิวหนัง : ชะล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก ทาด้วยพอลีเอทิลีนไกลคอล 400 ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที
เมื่อเข้าตา : ในกรณีที่สารเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำปริมาณมากเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที และต้องแน่ใจว่าได้ล้างตาอย่างเพียงพอโดยใช้นิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้าง พบจักษุแพทย์ทันที
เมื่อกลืนกิน : ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำปริมาณมาก (หลายลิตรถ้าจำเป็น), ไม่ควรทำให้อาเจียน (อาจทำให้เกิดการกัดจนทะลุ) นำส่งแพทย์ทันที ห้ามปรับสภาพสารให้เป็นกลาง

การเก็บรักษา

ใส่ในภาชนะที่ปิดสนิท เก็บในที่แห้ง บริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ณ. อุณหภูมิ +15 ถึง +25 องศาเซลเซียส

โครงสร้างทางเคมีและกลไกการออกฤทธิ์

ไธมอล (thymol) หรือไอโซโพรพิลเมธิลฟีนอล (isopropylmethylphenol, IPMP) เป็นสารอนุพันธ์ในกลุ่มโมโนเทอร์ปีน ฟีนอล (monoterpene phenol) ซึ่งพบได้ในธรรมชาติในน้ำมันที่สกัดจากต้นไธม์ (thyme)
ไธมอลมีกลิ่นหอมและยังมีฤทธิ์ดีในการระงับเชื้อ สารนี้ละลายน้ำได้ค่อนข้างน้อย แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์และตัวทำละลายอินทรีย์
ไธมอลเป็นที่นิยมนำมาใช้ผสมในน้ำยาบ้วนปากดับกลิ่นและน้ำยากลั้วคอในสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.05 ถึง 0.06 โดยสามารถออกฤทธิ์ระงับเชื้อโดยมีกลไกการทำงานไปทำลายผนังเซลล์แบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก ทำให้เสียสมดุลย์ เซลล์แตกและตายในที่สุด โดยไธมอลจะคงตัวอยู่ในช่องปากและยังคงมีฤทธิ์ในการระงับเชื้ออยู่ภายหลังการใช้ประมาณ 2 ชั่วโมง

ความเป็นพิษ

ไธมอลจัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษ เป็นอันตรายหากกลืน จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายหากสูดดมหรือสัมผัสกับสารนี้โดยตรง ทั้งนี้มีรายงานค่าความเป็นพิษของไธมอล โดยพบว่าปริมาณสารไธมอลที่ทำให้หนู (rat) ตายร้อยละ 50 เมื่อให้โดยการรับประทานมีค่าเท่ากับ 980 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณที่ทำให้หนู (mouse) ตายร้อยละ 50 เมื่อให้โดยการฉีด มีค่าเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต้องมีความระมัดระวังในการทำงานกับสารดังกล่าว สำหรับการนำไธมอลมาผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน แป้งผงโรยตัว น้ำยาทำให้ปากสดชื่น เป็นต้น ต้องใช้ที่ความเข้มข้นในปริมาณที่เหมาะสมตามกำหนด

อาการพิษ

หากรับประทานไธมอลที่มีความเข้มข้นสูง ๆ จะทำให้เกิดพิษเช่นเดียวกับฟีนอล แต่อาจมีความเป็นพิษน้อยกว่า โดยทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่ออก ท้องเสีย ไปจนถึงหมดสติ    
อย่างไรก็ตามในกรณีของไธมอลที่ใช้ผสมในน้ำยาบ้วนปาก (มีไธมอลผสมอยู่ในปริมาณประมาณร้อยละ 0.05 ถึง 0.06) ยังไม่มีรายงานถึงอันตรายหรือความเป็นพิษ

ข้อควรระวัง

ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสไธมอลที่มีความเข้มข้นสูงโดยตรง สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่มีไธมอลเป็นองค์ประกอบมักพบว่าเป็นชนิดที่มีแอลกอฮอล์ผสมในปริมาณค่อนข้างสูง (เพื่อช่วยในการละลายของไธมอลที่ละลายได้ไม่ดีในน้ำ) จึงต้องระมัดระวังในการใช้ ให้อ่านวิธีใช้ข้างขวดให้รอบคอบ ไม่ควรใช้บ่อยหรือในปริมาณมากกว่าที่กำหนด และอย่าเผลอกลืน เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกต่าง ๆ ได้บ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณและความถี่ของการใช้

การปฐมพยาบาล

เนื่องจากไธมอลที่ผสมในน้ำยาบ้วนปากมีในปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานถึงอันตรายและการเกิดพิษ ในกรณีที่เผลอกลืนลงไปในปริมาณเพียงเล็กน้อยไม่ควรที่จะทำให้เกิดการระคายเคือง อย่างไรก็ตามหากกระเด็นเข้าตา ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดจนอาการระคายเคืองทุเลา หากมีอาการรุนแรงให้ไปพบแพทย์

การเก็บรักษา

ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่มีไธมอลเป็นส่วนผสม
ที่มาข้อมูล
  • เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). สารเคมีในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ภายใน ห้องน้ำและครัว (ไธมอล (Thymol) น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อ). สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม, 2560,จาก http://www.neutron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=1686&Itemid=4&limit=1&limitstart=6
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. (2004). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Thymol). สืบค้นเมื่อ 6 ,มกราคม, 2560,จากhttp://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/1596/159681.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น