วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารปนเปื้อนในอาหาร : เชื้อรา [อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin )]

เราเคยสังเกตกันบ้างไหมคะว่า เวลาที่เราวางขนมปังทิ้งไว้นานๆ เมื่อเวลาผ่านไปจะมีจุดดำๆเกิดขึ้น จุดดำๆนั่นก็คือเชื้อรานั่นเอง หรือบางครั้งเวลาเราซื้อถั่วลิสงมาเราจะพบเชื้อราเกาะอยู่ที่ผิวของเปลือกถั่ว เมื่อเราเห็นดังนั้นเราก็จะไม่กล้ารับประทาน แต่เราเคยรู้ไหมคะว่าทำไมเราไม่ควรรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรา วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ

ในอาหารที่มีเชื้อรา (Mycotoxin) จะมีสารพิษชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตออกมา สารพิษชนิดนั้นชื่อว่าอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) สารพิษชนิดนี้ผลิตมาจากเชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus paraciticus ซึ่งเชื้อราสองชนิดนี้สร้างสารพิษในภาวะที่อาหารมีความชื้น (moisture content) สูง มีค่าวอเตอร์แอคทิวิตี้ (Water activity) มากกว่า 0.93 และอุณหภูมิค่อนข้างสูง (25-30 องศาเซลเซียส) เป็นอันตรายทางเคมี (Chemical hazard) เป็นสาเหตุของโรคที่มีอาหารเป็นสื่อ (Foodborne disease)

ชนิดของ Aflatoxin

อะฟลาทอกซินแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มอะฟลาทอกซิน ชนิด บี ( Aflatoxin B ) เป็นสารพวก บิส-ฟิวราโน-ไอ โซคูมาริน ( bis-furano-isocumarin ) กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มอะฟลาทอกซิน ชนิดจี ( Aflatoxin G ) มี โครงสร้างไอโซคูมาริน สารอะฟลาทอกซินที่พบตามธรรมชาติจะมีอยู่ 4 ชนิด คือ aflatoxin B1, B2, G1 และ G2 โดย aflatoxin B1 จะมีความเป็นพิษสูงที่สุด ซึ่ง Aspergillus flavus จะสร้างเฉพาะสาร aflatoxin B ขณะที่ A. parasiticus จะสร้างทั้ง aflatoxin B และ G
ที่มา : http://article.sapub.org/10.5923.j.fph.20140405.01.html

เชื้อราที่พบทั่วไปในผลิตผลเกษตรโดยเฉพาะประเทศไทย จะเป็นเชื้อรา Aspergillus flavus มากกว่า A. parasiticu
  • บี (B) หมายถึง blue คืออะฟลาทอกซินที่เรืองแสงให้สีฟ้า เมื่อดูภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต (ultravioletที่ความยาวคลื่น 365 นาโนเมตร
  • จี (G) หมายถึง green คืออะฟลาทอกซินที่เรืองแสงให้สีเขียว
  • เอ็ม (M) หมายถึง milk คืออะฟลาทอกซินที่พบในน้ำนมวัว (milkซึ่งเปลี่ยนรูปมาจากอะฟลาทอกซินบีจากอาหารโดยกลไกของร่างกาย

ที่มา : https://www.google.com/patents/WO2009134647A2?cl=en

ลักษณะทั่วไป

อะฟลาทอกซินละลายได้ในน้ำ แอลกอฮอล์ และละลายได้ดีในสารตัวทําละลายอินทรีย์ เช่น คลอโรฟอร์ม เบนซิน และอะซีโตน คุณสมบัติทางกายภาพที่สําคัญของสารพิษอะฟลาทอกซิน ได้แก่ มันสามารถทนความร้อนได้ถึง ระดับอุณหภูมิ 260 องศาเซลเซียส แต่สารอะฟลาทอกซินเสื่อมสลายได้ภายใต้แสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) แสงแดด และรังสีแกมม่า

แหลงที่มาของสารอะฟลาทอกซิน

ต้นตอของสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เชื้อรา กลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งมีสีเขียวแกม หรือสีเหลืองอ่อน เชื้อราทั้ง 2 ชนิดนี้พบได้ทั่วไปในอาหาร และ วัสดุทางการเกษตรในบ้านเราซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในแถบร้อนชื้น

การปนเปอนของอะฟลาทอกซินในอาหาร

อาหารที่จําหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซิน ได้แก่ อาหารจําพวกแป้ง และ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวโพด แป้งมันสําปะหลัง แป้งท้าวยายม่อม อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทําจากถั่วลิสง เช่น ถั่วลิสงดิบ ถั่วลิสงคั่วที่ใช้ปรุงอาหาร เนยถั่วลิสง กากถั่วลิสง น้ำมันถั่วลิสง นอกจากนั้นยังพบปนเปื้อนอยู่ในข้าวโพด มันสําปะหลัง อาหารแห้ง เช่น ผัก ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง เนื้อมะพร้าวแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วอื่นๆ

ที่มา : http://www.sciencenutshell.com/aflatoxin_the_deadly_fungal_toxin/
ที่มา : http://www.apsnet.org/edcenter/intropp/topics/Mycotoxins/Pages/Aflatoxins.aspx

ความเป็นพิษของอะฟลาทอกซิน

ปัจจุบันองค์การ IARC ( International Association Research Cancer ) ได้จัดสารอะฟลาทอกซิน เป็นสารก่อมะเร็ง Class I ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และอาจก่อมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน

อันตรายของสารอะฟลาทอกซิน

  • พิษของสารอะฟลาทอกซินแบบเฉียบพลันนั้นมักเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อาการที่เกิดจากสารอะฟลาทอกซินในเด็กคล้ายคลึงกับอาการของเด็กที่เป็น Reye’s syndrome คือ มีอาการชักและหมดสติได้ เนื่องจากมีความผิดปกติของตับและสมอง น้ำตาลในเลือดลดลง สมองบวม มีการคั่งของไขมันในอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต หัวใจ และปอด บางครั้งมีการตรวจพบสารอะฟลาทอกซินในตับผู้ป่วยด้วย
  • สําหรับในผู้ใหญ่หากได้รับสารพิษชนิดนี้เข้าไปเป็นจํานวนมาก หรือแม้เป็นจํานวนน้อยแต่ได้รับเป็นประจํา อาจเกิดการสะสมจนทําให้เกิด อาการชัก หายใจลําบาก ตับถูกทําลาย หัวใจและ สมองบวม นอกจากนั้นการที่ร่างกายได้รับสารพิษอะฟลาทอกซินเป็นประจํายังเป็นสาเหตุของ โรคมะเร็งตับ ( Hepatoma ) การเกิดไขมันมากในตับ (fatty liver) และพังพืดในตับ ( liver fibrosis )
  • อะฟลาทอกซิน B1 เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในตับสัตว์ทดลองหลายชนิดอย่างชัดเจน จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ ประเทศไทยกำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือ 20 พีพีบี ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 คณะกรรมาธิการอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission) กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการต่อไปได้ไม่เกิน 15 พีพีบี (ppb, part per billion)

การป้องกันและการทำลายสารพิษ

การปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในอาหารคนและอาหารสัตว์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและคาดการณ์ได้ยากมาก เพราะเชื้อราที่สร้างสารพิษชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งเจริญได้ดีบนผลิตผลเกษตรเกือบทุกชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดต่างๆ จากผลิตผลเกษตรด้วย เชื้อราเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทุกสถานะการณ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการเก็บเกี่ยว และกระบวนการเก็บรักษา กระบวนการขนส่ง สารพิษเหล่านี้อาจปนเปื้อนอยู่ในผลิตผลเกษตรได้ ถึงแม้จะไม่มีเชื้อราปรากฏให้เห็นบนผลิตผลเกษตรนั้นๆ เพราะตัวเชื้อราเองอาจถูกขจัดออกไปโดยวิธีต่างๆ หลังจากที่สร้างสารพิษเอาไว้บนผลิตผลเกษตรแล้ว

การป้องกันเบื้องต้น

ความร้อนที่เราใช้ประกอบอาหารประจําวัน เช่น หุง ต้ม นึ่งหรือแม้แต่วิธีพาสเจอร์ไรซ์ และสเตอร์ริไรซ์ไม่สามารถทําลายพิษของอะฟลาทอกซินให้หมดไปได้ เนื่องจากสารพิษทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส วิธีการทำลายสารอะฟลาทอกซินโดยทั่วไป จะเป็นวิธีทางเคมี เช่น การใช้กรดแก่ หรือด่างแก่ และวิธีทางกายภาพ เช่น การใช้วิธีการคัดแยก (sortingเมล็ดธัญพืช หรือการใช้รังสี เป็นต้น แต่ไม่มีวิธีการใดเลยที่สามารถทำลายสารพิษได้หมด
ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันมิให้สารพิษชนิดนี้ปนเปื้อนตั้งแต่ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นํามาใช้ประกอบอาหาร
การลดความชื้นของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวอย่างรวดเร็วด้วยการทำแห้ง (dehydration) เพื่อลดปริมาณ water activity ของอาหารให้ต่ำกว่าที่เชื้อราจะเจริญและสร้างสารพิษ

ผลกระทบต่อสินค้าเกษตร

การปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซินในผลิตผลเกษตรที่เป็นทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์เป็นปัญหาที่สำคัญมากเพราะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรงคือทำให้ผลิตผลเกษตรเสียหาย มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ราคาตกต่ำ สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพต่ำ หรือตายเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญประชาชนที่บริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษเข้าไปอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือการนำเอาปริมาณการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ และทำให้มูลค่าทางการตลาดของผลิตผลลดลงด้วย

วิธีเลี่ยงพิษอะฟลาท็อกซิน

  • เชื้อราที่เป็นต้นกำเนิดของอะฟลาทอกซินจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่ มีความชื้นมากๆ แต่ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตา เพราะจะมีสีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวเข้ม ดังนั้น เมื่อพบว่าอาหารมีราสีเขียมอมเหลือง ควรนำไปทิ้งทันทีและห้ามนำมาปรุงอาหารเด็ดขาด
  • อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคหลายคนคิดว่า แค่ปาดส่วนที่เป็นเชื้อราออกไป ก็สามารถรับประทานส่วนที่เหลือได้นั้น ถือเป็นความคิดที่ผิด เพราะสารพิษที่เชื้อราสร้างขึ้นได้แพร่กระจายไปทั่วอาหารนั้นๆ แล้ว การนำมาบริโภคจึงเป็นการนำสารพิษด้วยสู่ร่างกายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยแท้
  • อาหารที่มีแนวโน้มติดเชื้อราได้ง่าย เราไม่ควรซื้อมาเก็บครั้งละมากๆ และควรซื้อเพียงพอใช้เท่านั้น นอกจากนี้ ต้องเก็บรักษาในที่แห้งสนิทและไม่มีความชื้น ส่วนการเลือกซื้อผลไม้นั้น ควรซื้อในปริมาณน้อยเช่นกันและเลือกให้มีความสุกและความดิบแตกต่างกัน เพราะหากซื้อแบบสุกมาทั้งหมดครั้งเดียว ผลไม้ที่รับประทานไม่ทันอาจขึ้นราได้
  • ควรหลีกเลี่ยงถั่วลิสง ที่ดูเก่า มีความชื้นหรือมีกลิ่นหืน เพราะมีโอกาสปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินสูงมาก
  • ควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่ไว้ใจได้ มีหีบห่อมิดชิดและสดใหม่
  • หากสงสัยว่าอาหารขึ้นรา ควรทิ้งไปให้หมด ส่วนกระดาษหรือกล่องที่สัมผัสอาหารขึ้นรา ก็ควรทิ้งด้วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอาหารอื่นๆ ต่อไป
  • ควรล้างอุปกรณ์เครื่องครัวและเขียงให้สะอาด และควรซับให้แห้งอยู่เสมอ
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นเราก็คงจะพอทราบถึงอันตรายของสารอะฟลาทอกซินกันแล้วนะคะ ดังนั้นก่อนที่จะเลือกอาหารมารับประทานก็ลองสังเกตกันสักนิดนะคะว่า อาหารนั้นมีเชื้อราหรือไม่ หากมีก็ไม่ควรรับประทานอาหารชนิดนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองค่ะ
ที่มาข้อมูล :
  • พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และ นิธิยา รัตนาปนนท์.(ม.ป.ป.). Aflatoxin / อะฟลาทอกซิน. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม,2559,จาก www. foodnetworksolution.com/wiki/word/0177/aflatoxin-อะฟลาทอกซิน
  • สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม.(ม.ป.ป.).อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin ).สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม,2559,จาก http://fic.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/aflatoxin-2.pdf

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารเคมีในห้องน้ำ : ยาสีฟัน

ที่มา : http://www.clipmass.com/story/104453
ยาสีฟันถือเป็นของใช้จำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน เราต้องใช้ยาสีฟันตั้งแต่ตื่นนอนเลยก็ว่าได้ เราใช้ยาสีฟันเพื่อทำความสะอาดฟัน ลดกลิ่นปาก ขจัดคราบหินปูน ฯลฯ ในปัจจุบันมีผู้ผลิตยาสีฟันหลากหลายยี่ห้อ เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลาก หลายมากขึ้น

ความหมายของยาสีฟัน


ยาสีฟัน คือ สารที่ช่วยในการทำความสะอาดฟัน ใช้ร่วมกับการแปรงฟัน หากแปรงฟันโดยไม่ใช้ยาสีฟัน อาจทำให้ขาดความรู้สึกสดชื่นหลังการแปรงฟัน

กำเนิดยาสีฟัน


ยาสีฟันถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณ ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนผสม ได้แก่ เกลือป่น พริกไทยป่น ใบมินต์ และดอกไม้ต่างๆ นำมาผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นชาวโรมันได้คิดค้นสูตรยาสีฟันขึ้นมาใหม่ซึ่งจะใช้ปัสสาวะของมนุษย์เป็นส่วนผสมหลัก เนื่องจากชาวโรมันเชื่อว่าแอมโมเนียที่อยู่ในปัสสาวะจะช่วยให้ฟันขาวสะอาดขึ้น กระแสความนิยมของยาสีฟันเริ่มมีมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 คนส่วนใหญ่จะใช้ยาสีฟันที่ทำขึ้นเอง ซึ่งโดยมากทำจากผงชอล์ค ผงอิฐ เกลือ และผงถ่าน ในปี ค.ศ.1900 ได้เริ่มมีการผลิตยาสีฟันแบบเหลวที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และเบกกิงโซดา และในปี ค.ศ.1914 เริ่มมีการเติมฟลูออไรด์ในยาสีฟัน แต่ยังไม่มีการรับรองถึงประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุจากสมาคมทันตกรรมของอเมริกา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1950 บริษัท Procter & Gamble ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุของยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และได้การรับรองจากสมาคมทันตกรรมอเมริกา

วัตถุประสงค์ของการใช้ยาสีฟัน


ช่วยให้การทำความสะอาดฟันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยช่วยในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ เศษอาหาร และคราบสะสมต่าง ๆ บนตัวฟัน รวมทั้งบนลิ้นและเหงือกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันฟันผุ เหงือกอักเสบ ลดอาการเสียวฟัน หรือขัดคราบบุหรี่ ช่วยให้ฟันขาวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนประกอบพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปในในยาสีฟัน

องค์ประกอบหลักของยาสีฟัน

  1. ผงขัด (abrasives) เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ช่วยในการขัดผิวฟัน โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวฟัน แต่ทำให้เกิดพื้นผิวที่เรียบ ซึ่งจะช่วยทำให้การเกิดคราบสะสมบนตัวฟันช้าลง ปัจจัยที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับผงขัด ได้แก่ ความแข็งของผงขัด ขนาดของอนุภาค และรูปร่างของอนุภาค
  2. สารที่ทำให้เกิดฟอง (detergents) เป็นสารที่ช่วยลดแรงตึงผิว สามารถแทรกซึมและทำให้สิ่งที่เกาะบนผิวฟันหลุดลอกออก ง่ายต่อการกำจัดด้วยแปรงสีฟัน ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำปฏิกิริยาได้แม้ในสภาพที่เป็นกรดหรือด่าง และมีความคงตัว
  3. สารที่ทำให้เกิดการรวมตัว (binder หรือ thickeners) เป็นสารที่ป้องกันการแยกตัวขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นของแข็งออกจากของเหลว ในช่วงที่เก็บรักษา ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย มีความคงตัวและเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ในยาสีฟันได้
  4. สารรักษาความชื้น (humectant) เป็นสารที่ช่วยรักษาความอ่อนนุ่มของยาสีฟัน ป้องกันการแข็งตัวขณะที่สัมผัสอากาศ ช่วยในการคงตัวของยาสีฟัน ไม่มีพิษต่อร่างกาย
  5. สารกันบูด (preservation) เป็นสารที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
  6. สารแต่งสี (coloring agents) เป็นสีที่เติมเข้าไปในยาสีฟัน ทำให้มีความน่าใช้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติดสีบนตัวฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก และไม่ทำให้วัสดุบูรณะเปลี่ยนสีไป สารที่ใช้ ได้แก่ สีที่ได้จากพืช
  7. สารแต่งกลิ่น (flavoring agents) เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีกลิ่นหอม เพิ่มความน่าใช้ และกลบกลิ่นของสารอื่นที่ไม่พึงประสงค์ในยาสีฟัน ไม่ควรมีกลิ่นเปลี่ยนไปในระหว่างขั้นตอนการผลิตและในขณะเก็บ รวมทั้งควรเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ของยาสีฟันได้
  8. สารให้ความหวาน (sweeteners) เป็นสารที่ให้ยาสีฟันมีรสหวาน เพื่อให้ผู้ใช้พึงพอใจ ยาสีฟันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟันสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ จะถูกปรุงแต่งให้มีรสหวานแต่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ เนื่องจากสารที่ให้ความหวานที่ผสมลงไป มักเป็นสารสังเคราะห์ หรือสารที่ได้จากธรรมชาติที่ไม่ทำให้เกิดฟันผุ เช่น ซอร์บิทอล (sorbitol) กลีเซอรอล (glycerol) และไซลิทอล (xylitol) เป็นต้น
ปัจจุบันนี้แบ่งยาสีฟันออกเป็นหลายประเภท ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่
  1. ยาสีฟันสำหรับป้องกันฟันผุ ยาสีฟันประเภทนี้มีส่วนผสมที่สำคัญ คือ ฟลูออไรด์ ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่สามารถยับยั้งฟันผุได้ดี คือ 1000 ส่วนในล้านส่วน (1000 ppm)
  2. ยาสีฟันที่ลดการสะสมคราบจุลินทรีย์และลดการอักเสบของเหงือก ยาสีฟันชนิดนี้มักมีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งจุลชีพผสมอยู่ ได้แก่ สารสกัดจากพืชสมุนไพรหรือน้ำมันระเหยได้จากพืช (essential oil) และ ไตรโคลซาน (triclosan) เป็นต้น
  3. ยาสีฟันที่ใช้ลดอาการเสียวฟัน ส่วนผสมที่สำคัญในยาสีฟันประเภทนี้ ได้แก่ โปแทสเซียม (potassium) สตรอนเทียม (strontium) และ ฟลูออไรด์ เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเสียวฟัน เนื่องจากผู้ที่มีอาการเสียวฟันมักจะละเว้นการแปรงฟันในบริเวณที่เสียวฟัน อันจะนำไปสู่การสะสมคราบจุลินทรีย์ และก่อให้เกิดโรคต่อไป
  4. ยาสีฟันที่ช่วยยับยั้งการเกิดหินน้ำลายหรือหินปูน เป็นยาสีฟันที่มีสารที่ช่วยลดการสร้างผลึกแคลเซียมฟอสเฟตในคราบจุลินทรีย์ เช่น เกลือไพโรฟอสเฟต (pyrophosphate salt) เกลือของซิงค์ (zinc salt) เช่น ซิงค์คลอไรด์ (zinc chloride) หรือ ซิงค์ไนเตรท(zinc citrate) เป็นต้น
  5. ยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาว เป็นยาสีฟันที่ผสมสารที่ฟอกสีหรือขจัดคราบสีบนตัวฟันได้ เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) และ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogenperoxide) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารพวกซิลิกา (silica) และเซอร์โคเนียม (zirconium) ซึ่งเป็นผงขัดที่หยาบช่วยขัดฟันได้ รวมทั้งสารพวกโพลีไวนิลไพโรลิโดน (polyvinyl pyrrolidone) หรือ พีวีพี คอมเพล็กซ์ (PVP complex) ที่ทำให้คราบต่าง ๆ เช่น คราบบุหรี่ ที่ติดบนตัวฟันละลายน้ำได้ดีขึ้น ทำให้ถูกกำจัดออกได้ง่าย
  6. ยาสีฟันสมุนไพร เป็นยาสีฟันที่มีองค์ประกอบเป็นสารสกัดจากพืชธรรมชาติ มักออกฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียในช่องปากได้ จึงลดอาการเหงือกอักเสบลงได้
ยาสีฟันที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มีหลายรูปแบบ ได้แก่

  1. ยาสีฟันชนิดผง ยาสีฟันแบบนี้มีขนาดของผงขัดที่ค่อนข้างหยาบ หากใช้ร่วมกับการแปรงฟันที่ผิดวิธี เช่น การแปรงแบบถูไปมาในแนวนอน อาจทำให้คอฟันสึกได้
  2. ยาสีฟันชนิดครีม เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด มีขนาดของผงขัดที่พอดี สามารถขจัดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟันได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสึกของเคลือบฟัน
  3. ยาสีฟันชนิดเจล ยาสีฟันแบบนี้มีขนาดของผงขัดที่ละเอียดกว่าแบบครีม เหมาะกับผู้ที่มีภาวะเสียวฟัน

การเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เหงือก และช่องปาก มีหลักง่ายๆคือใช้แล้วฟันสะอาด ไม่มีอาการแพ้ ส่วนการเลือกยาสีฟันสำหรับผู้ที่มีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับฟัน เหงือก และช่องปาก ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนประกอบของสารที่มีสมบัติรักษาโรคได้ตามอาการ ซึ่งยาสีฟันอาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากอาการยังไม่หาย ควรจะพบทันตแพทย์เพื่อปรึกษา รักษาอาการนั้นๆ เนื่องจากพวกสารป้องกัน และรักษาโรคในช่องปาก ที่เพิ่มเข้าไปในยาสีฟันแล้ว โฆษณาสรรพคุณต่างๆ นั้นวงการทันตแพทย์ยังไม่ได้ยอมรับว่าทุกตัวได้ผลดีจริง
อาการที่พบโดยทั่วไปและมีสารที่ผสมลงในยาสีฟันเพื่อรักษานั้นแบ่งได้เป็นสองกลุ่มอาการใหญ่ๆ ดังนี้
อาการฟันผุ
ส่วนประกอบในยาสีฟันที่มีผลต่อการป้องกันฟันผุคือฟลูออไรด์ ซึ่งในวงการทันตแพทย์ถือว่าฟลูออไรด์เป็นสารมหัศจรรย์สำหรับสุขภาพช่องปาก ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้จริงโดยฟลูออไรด์ไอออนจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารเคลือบฟันได้สารตัวใหม่ที่ทำหน้าที่เคลือบฟันได้ดีกว่า เพราะมีความทนต่อกรดที่เกิดจากอาหารที่ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในช่องปากได้ดีกว่า ฟลูออไรด์จัดเป็นสารควบคุมพิเศษ เพราะหากฟันได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ฟันอาจตกกระได้ และที่สำคัญหากรับประทานฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก จะทำให้ปวดท้อง ชาในปาก คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นยาสีฟันที่เติมฟลูออไรด์จึงจัดเป็น เครื่องสำอางควบคุมพิเศษซึ่งผู้ผลิตต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และระบุไว้ที่ข้างกล่องยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ยาสีฟันเกือบทุกยี่ห้อในท้องตลาดมีฟลูออไรด์ไอออนหรือที่เรียกว่าแอคทีฟฟลูออไรด์ผสมอยู่ประมาณ 1000 พีพีเอ็ม (ppm) ยาสีฟันสำหรับเด็กจะมีปริมาณฟลูออไรด์ประมาณ 500 พีพีเอ็ม นอกจากฟลูออไรด์แล้วสารที่ช่วยป้องกันฟันผุอีกประเภทหนึ่ง คือ สารลดเชื้อต่อต้านแบคทีเรีย ซึ่งทำให้ช่วยลดการอักเสบของเหงือกด้วย สารตัวที่มีเอกสารอ้างอิงว่าค่อนข้างมีความปลอดภัยในการใช้ ได้แก่ สารไตรโคซาน โดยถ้าผสมกับ พีวีเอ็ม/เอ็มเอ โคโพลีเมอร์ หรือ ซิงค์ซิเตรท จะเสริมฤทธิ์กัน ทำให้สารนี้คงตัวอยู่ในช่องปากได้นาน 
อาการเสียวฟัน

มีสาเหตุจากอะไรนั้นยังไม่ทราบชัดเจนแต่มักพบเสมอในฟันสึก และฟันผุ แต่ก็ไม่มีความสัมพันธ์กันมากนัก มีรายงานว่าบางครั้งฟันที่ผุสึกในบางคนก็ไม่มีอาการเสียว แต่ในบางคนการมีฟันสึกเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกเสียวมาก โดยเฉพาะที่คอฟัน อาการเสียวเนื่องจากเหงือกร่นพบบ่อยในผู้สูงอายุและในผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบที่มีชื่อเรียกว่าโรคปริทันต์หรือโรครำมะนาด สารที่ใส่ลงในยาสีฟันเพื่อลดอาการเสียวฟันคือ สตรอนเชียมคลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท โดยสารนี้จะเข้าไปบล็อกระบบประสาทไม่ให้ส่งความรู้สึกเสียวฟันไปยังสมอง ยาสีฟันที่พบว่ามีสตรอนเตรียม คลอไรด์ คือ เซ็นโซดายน์สีแดงสูตรดั้งเดิม ส่วนเซ็นโซดายน์สีเขียวและสีฟ้าจะมีโพแทสเซียมไนเตรท อีโมฟอร์ม และออรัล-บี เซนซิทีฟ มีโพแทสเซียมไนเตรทเป็นส่วนผสมเช่นกัน การรักษาอาการฟันสึกหรือฟันผุบางครั้งก็ช่วยให้อาการเสียวฟันหายไปได้
นอกจากกลุ่มยาสีฟันที่มีสารช่วยรักษาหรือป้องกันโรคฟันและเหงือก ยังมียาสีฟันอีกกลุ่มที่เน้นการเติมสารที่ช่วยในการทำให้ฟันขาวขึ้น โดยการขัดคราบสีฟันที่เกิดจากการดื่ม ชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ ออกทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น ยาสีฟันในกลุ่มนี้จึงเน้นไปที่ผงขัดฟันที่มีความหยาบกว่าปกติ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมสำหรับยาสีฟันกลุ่มนี้ว่า คราบหินปูนไม่สามารถขจัดออกได้โดยการแปรงฟัน สารในยาสีฟันกลุ่มนี้ไดแก่ โซเดียมไพโรฟอสเฟตซึ่งช่วยชะลอหรือลดการเกิดหินปูนได้ แต่การเอาคราบหินปูนออกต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อใช้เครื่องมือขูดออกเท่านั้น การทำให้ฟันขาวขึ้นอีกวิธีหนึ่ง คือ การฟอกสีฟัน โดยเติมสารที่มีฤทธิ์ในการฟอกสีลงในยาสีฟัน เช่น คาร์บาไมค์เปอร์ออกไซด์ แต่โอกาสที่สารเปอร์ออกไซด์จะก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองต่อเหงือกมีได้สูง จึงควรระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้สักหน่อย
ปัญหาจากการใช้ยาสีฟันที่อาจพบได้คือ การแพ้ยาสีฟัน เยื่ออ่อนในช่องปากจะเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง บางรายอาจมีอาการบวมแดงที่ริมฝีปาก ปากจะดำและลอก สาเหตุเกิดจากการแพ้สารบางตัวในยาสีฟัน เช่น บางคนจะแพ้เมนทอล ซึ่งเป็นสารแต่งกลิ่นและรสยาสีฟัน หรืออาจจะแพ้ฟลูออไรด์ในยาสีฟัน วิธีแก้ไขก็คือ เปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันยี่ห้ออื่น ยาสีฟันสมุนไพรไทย(โดยเฉพาะคนที่คิดว่าแพ้ฟลูออไรด์) หรือยาสีฟันเด็ก และใช้เกลือช่วยในการกลั้วคอบ้วนปาก การใช้ยาสีฟันที่เน้นการขจัดคราบ ซึ่งจะมีผงขัดที่หยาบมาก ก็อาจจะเกิดปัญหาทำให้ฟันสึกได้ และอาจมีอาการเสียวฟันตามมา จึงไม่ควรใช้ทุกวัน เช่นเดียวกันกับการใช้ยาสีฟันที่เป็นผง ฟันจะมีโอกาสสึกได้มากกว่าแบบที่เป็นครีมหรือเจล ยาสีฟันบางชนิดผสมสมุนไพร มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานทำให้เหงือกดูเหมือนแน่นขึ้น ซึ่งต้องระวังในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ ซึ่งอาจมีหินปูนอยู่ใต้เหงือก ยังไม่ได้ขูดออก อาจมีการติดเชื้อใต้เหงือกเกิดขึ้นได้
จากข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลที่เป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาสีฟันที่ถูกใจ อาจมีมากกว่าหนึ่งยี่ห้อใช้สลับกันก็ได้ เช่น ถ้ามีอาการเสียวฟันอาจใช้ยาสีฟันที่แก้การเสียวฟันโดยเฉพาะ และเมื่อหมดอาการแล้วก็กลับมาใช้ยาสีฟันชนิดธรรมดา ซึ่งจะทำให้ประหยัดทรัพย์ในกระเป๋าด้วย เพราะยาสีฟันที่มีการเน้นจุดขายที่แตกต่าง เช่น ขจัดคราบบุหรี่ ลดการเสียวฟัน ผสมสารพิเศษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ยาสีฟันเหล่านี้มักมีราคาสูงกว่ายาสีฟันทั่วไป การใช้ยาสีฟันสมุนไพรไทย นอกจากราคาไม่สูงมากแล้ว ยังถือเป็นการอุดหนุนคนไทย ใช้ของไทย เงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/84358


ที่มาของข้อมูล :
  • สุชญา ผ่องใส. (2559). ยาสีฟัน. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=6698
  • ทพญ. สาครรัตน์ คงขุนเทียน.(2552). หลายคำถามกับยาสีฟัน. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.dentalcouncil.or.th/content/people/detail.php?type=6&id=159

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารเคมีในห้องน้ำ : ลูกเหม็น (Mothball)

ที่มา : www.siamchemi.com/ลูกเหม็น/
เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่มักนำมาใส่ตู้เสื้อผ้าเพื่อป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือนำมาใส่ในห้องน้ำเพื่อช่วยดับกลิ่น ส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งที่เป็นเม็ดขาวๆหรือที่เราเรียกชื่อทั่วไปว่า"ลูกเหม็น” ลูกเหม็นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งชนิดก้อน ชนิดเม็ด และชนิดผลึก ลูกเหม็นประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่าแนพทาลีน (naphthalene) มากกว่าร้อยละ 99 โดยน้ำหนัก สารชนิดนี้สามารถระเหิดหรือเปลี่ยนสถานะที่อุณหภูมิห้องจากของแข็งกลายเป็นไอที่มีกลิ่นป้องกันแมลงได้ แนพทาลีนเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ พบได้ในถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และเกิดจากการเผาไหม้ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไม้ บุหรี่ ปัจจุบันนอกจากมีการนำแนพทาลีนไปใช้เป็นลูกเหม็นกันแมลงแล้ว ยังมีการผลิตแนพทาลีนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลาสติกพีวีซี เรซิน สารฟอกหนัง สีย้อม และสารฆ่าแมลงบางประเภทอีกด้วย
แนพทาลีน (naphthalene)
ชื่อทางเคมี : NAPHTHALENE
ชื่ออื่น : ลูกเหม็น
สูตรเคมี : C10H8
สูตรโครงสร้าง :
ที่มา : http://chemistry.about.com/od/factsstructures/ig/Chemical-Structures---N/Naphthalene.htm
มวลโมเลกุล : 128.17 amu.
จุดเดือด/ข่วงการเดือด : 218 oC  ที่ 760 mmHg
จุดหลอมเหลว/ช่วงการหลอมเหลว : 77 oC
การละลาย : ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในตัวทำละลาย เช่น เอทานอล เบนซีน อีเทอร์ คีโตน  เป็นต้น

การผลิต

แนฟทาลีนเป็นส่วนที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

ลักษณะทางกายภาพและเคมี

แนพทาลีนมีลักษณะเป็นของแข็งสีขาว   มีกลิ่นเฉพาะตัว   เปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิห้อง   ไอระเหยของแนพทาลีนสลายตัวได้ในอากาศด้วยแสงแดดและความชื้น แนพทาลีนทำปฏิกิริยารุนแรงกับตัวออกซิไดซ์แรง ไนโตรเจนออกไซด์

ประโยชน์ของแนพทาลีน

ที่มา : https://natkrt.wordpress.com/หลายเรื่องจริงของแมลงส/
  1. ใช้ในห้องปฏิบัติการเคมี (Laboratory Reagent)
  2. ใช้เป็นส่วนผสมของสารกำจัดกลิ่น และไล่แมลง เช่น ผลิตภัณฑ์ลูกเหม็น
  3. เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เคมีหลายชนิด เช่น สี
  4. ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษสำเนา
  5. ไอจากการระเหิดมีกลิ่นและฤทธิ์ไล่แมลง และกลบกลิ่นอื่นๆ จึงใช้ป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือใช้เพื่อดับกลิ่นได้

ความเป็นพิษ

การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนำไปสู่การเกิดเมธฮีโมโกลบินซึ่งจะก่อให้เกิดอาการตัวเขียวได้ถ้ามีความเข้มข้นสูงพอ การเริ่มแสดงอาการอาจจะเกิดช้าไปซัก 2 ถึง 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น  แนพทาลีนเป็นพิษต่อเรตินาและการมีผลต่อการดูดซึมของร่างกาย ไอของแนพทาลีนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 15 ppm อาจทำให้เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ เกิดการบาดเจ็บของกระจกตา และระคายเคืองตาอย่างรุนแรง  มีรายงานว่าการกลืนกินสารในปริมาณมากได้ก่อให้เกิดภาวะเลือดจางซึ่งเกี่ยวเกิดจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายขั้นรุนแรงและภาวะที่ปัสสาวะมีฮีโมโกลบินด้วย โดยปกติแนพทาลีนสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้  โดยการหายใจเอาอากาศที่มีไอระเหยของแนพทาลีนจากเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น หรือสัมผัสกับลูกเหม็นหรือเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น รวมไปถึงจากการกินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจากอุบัติเหตุ เช่น ในเด็ก ในชีวิตประจำวันที่มีการสูดดมไอของแนพทาลีนที่ค่อยๆ        ระเหิดออกมาจากก้อนลูกเหม็นเข้าไปในปริมาณไม่มาก    และไม่ต่อเนื่องก็อาจไม่แสดงอาการของการเกิดอันตราย    อย่างไรก็ตามการได้รับแนพทาลีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลต่อสุขภาพดังนี้
การสัมผัสทางผิวหนัง :
อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
การสัมผัสทางตา : 
อาจทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา เป็นพิษต่อเรตินา ไอของแนพทาลีนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 15 ppm อาจทำให้เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ เกิดการบาดเจ็บของกระจกตา และระคายเคืองตาอย่างรุนแรง
การสูดดม : อาจเป็นอันตรายหากสูดดม      สารนี้อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่แผ่นเยื่อเมือก    และบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
การกลืนกิน : 
ทำให้คลื่นไส้     อาเจียน     ท้องเดิน     เมื่อแนพทาลีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดเมธฮีโมโกลบินซึ่งจะก่อให้เกิดอาการตัวเขียวได้ถ้ามีความเข้มข้นสูงพอ    การเริ่มแสดงอาการอาจจะเกิดช้าได้ภายใน 2 ถึง 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น อาจมีเลือดออกในปัสสาวะ และอาจเสียชีวิตได้
หากได้รับแนพทาลีนในปริมาณมาก เม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายทำให้เกิดภาวะโลหิตจางซึ่งจะพบในคนที่กินลูกเหม็น พบว่า ทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ คนที่มีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำหรือมีเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) บกพร่องจะเกิดภาวะโลหิตจางได้ง่ายเมื่อได้รับแนพทาลีน
นอกจากนี้แนพทาลีนที่ตกค้างในร่างกายของแม่   สามารถส่งผ่านไปยังลูกผ่านทางรกและนมแม่ได้และอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแนพทาลีนมีผลต่อพัฒนาการหรือเป็นพิษต่อทารกในครรภ์    การทดลองในสัตว์พบว่าการสูดดมแนพทาลีนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดเนื้องอกและมะเร็งในจมูกและปอด แต่ไม่พบหลักฐานยืนยันการก่อมะเร็งในคน    ดังนั้นบางหน่วยงานจึงจัดแนพทาลีน   เป็นสารที่เป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งในคน ในขณะที่บางหน่วยงานจัดระดับความเป็นอันตรายของแนพทาลีนว่าไม่เป็นสารก่อมะเร็งในคน

การปฐมพยาบาล

เมื่อสูดดมสาร:
หากสูดดมสารแนพทาลีนเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจให้การช่วยหายใจ  หรือถ้าผู้ป่วยหายใจลำบาก ทำการให้ออกซิเจน
เมื่อสัมผัสสาร :
ในกรณีที่สารแนพทาลีนถูกผิวหนัง ให้ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  ถอดเสื้อและรองเท้าที่เปื้อนสารออก  หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์
เมื่อสารเข้าตา :
ในกรณีที่สารแนพทาลีนเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  และต้องแน่ใจว่าได้ทำการล้างตาอย่างเพียงพอ โดยในขณะล้างตาให้ใช้นิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้างเพื่อให้น้ำสามารถชะล้างสารแนพทาลีนออกไปให้มากที่สุด  หลังจากนั้นไปพบแพทย์
เมื่อกลืนกิน :
เมื่อกลืนกินสารแนพทาลีนเข้าไป ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ยังมีสติอยู่ให้ใช้น้ำบ้วนปาก หลังจากนั้นไปพบแพทย์

ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ :

เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำดื่ม กำจัดได้ยาก ห้ามทิ้งลงสู่ระบบน้ำ, น้ำเสีย หรือดิน

ข้อควรปฏิบัติและการเก็บรักษา 

เมื่อไม่ได้ใช้ควรปิดให้แน่น   เก็บในที่แห้ง   เก็บในที่เย็น บริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เก็บห่างจากแหล่งกำเนิดประกายไฟและความร้อนและพ้นมือเด็ก  ก่อนจะใช้เสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็นป้องกันแมลง   ให้นำออกมาตากแดดหรือผึ่งลม   เพื่อกำจัดกลิ่นและไอระเหยของแนพทาลีนที่ตกค้างเสียก่อน และควรซักอีกครั้งก่อนที่จะสวมใส่ หลีกเลี่ยงการใช้ลูกเหม็นกับเสื้อผ้าของเด็กและทารก ลดปริมาณการใช้ก้อนดับกลิ่นโดยไม่จำเป็น

ที่มาของข้อมูล :
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. (2004). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (NAPHTHALENE). สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst91-20-3.html
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.(ม.ป.ป.).ลูกเหม็น.สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก  http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15858&id_L3=3115

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารเคมีในห้องน้ำ: น้ำยาล้างห้องน้ำ

ที่มา : http://www.clipartkid.com/bathroom-cartoon-cliparts/
ห้องน้ำเป็นห้องที่เราใช้อยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะธุระส่วนตัว ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ฯลฯ จากกิจกรรมต่างๆมากมายก็ทำให้ห้องน้ำของเรามีโอกาสสกปรกมากกว่าส่วนอื่น ดังนั้นเราจึงต้องทำความสะอาดห้องน้ำของเราเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสุขอนามัยที่ดีและความสุขใจเวลาที่เราเข้าไปใช้งานปัจจุบันผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนผู้บริโภคนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะทำให้เบาแรงในการทำความสะอาดมาก เหมือนกับที่โฆษณาว่าแค่ราดทิ้งไว้ แป๊บเดียวก็สะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีอาจใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นก็ได้ ดังนั้นน่าจะมาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำในเรื่องของสารเคมีที่ใช้ผสมในผลิตภัณฑ์กัน
โดยทั่วไปในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำจะใช้กรดเกลือหรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริก (HCl) ซึ่งในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 15 โดยน้ำหนัก และมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดชะล้างรอยเปื้อนภายใน 5 นาที
กรดไฮโดรคลอริกคืออะไร มีประโยชน์หรือมีอันตรายอย่างไร

Hydrochloric acid  (HCl)

ชื่อตาม IUPAC : Hydrochloric acid
สูตรเคมี : HCl
สูตรโครงสร้าง : H – Cl
มวลโมเลกุล :  36.46 amu.
กรดไฮโดรคลอริกเป็นสารละลายของแก๊ส Hydrogen chloride (HCl) ทั้ง Hydrochloric acid และ Hydrogen chloride มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง Hydrochloric acid เมื่อถูกกับอากาศจะกลายเป็นควันของ Hydrogen chloride ในทางการค้า Hydrochloric acid ชนิด reagent grade ประกอบด้วย HCl ร้อยละ 38

ข้อควรระวังในการใช้

ที่มา : http://3stylelife.com/house-cleaning/

เมื่อต้องใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริกเป็นส่วนประกอบ นอกจากจะใช้ให้เหมาะสมกับงานแล้ว ควรมีความระมัดระวังในการใช้และคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะได้รับด้วย ดังนี้
  • ขณะใช้ควรสวมถุงมือยาง และรองเท้ายาง ภายหลังจากการใช้หรือหยิบจับ ควรล้างถุงมือยาง รองเท้ายาง และมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
  • ระวังอย่าให้เข้าตา ถูกผิวหนัง หรือสูดดม และห้ามรับประทาน
  • ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริก หรือภาชนะบรรจุลงในแม่น้ำ คูคลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม

ความเป็นพิษ

กรดไฮโดรคลอริกในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัส การหายใจและการรับประทานหรือกลืนกิน โดยทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังนี้
  • ถ้ากรดไฮโดรคลอริกถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ บวม แดง เจ็บแสบและอาจทำให้เกิดผลเสียอย่างถาวรต่อผิวหนัง
  • ไอระเหยหรือละอองไอของกรดไฮโดรคลอริกแม้ในปริมาณน้อยๆ ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ ทำให้ตาแดง ในความเข้มข้นสูงๆ ทำให้เกิดแผลไหม้หรือตาบอดได้
  • การสูดดมไอระเหยของกรดไฮโดรคลอริกทำให้เกิดฤทธิ์กัดกร่อนระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่แสบจมูก ลำคอ ไปจนถึงหายใจลำบากได้ ถ้าสูดดมในปริมาณสูงๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นแผลไหม้ มีแผลอักเสบที่จมูกและลำคอ ปอดบวมน้ำและหายใจลำบาก
  • การกลืนหรือกินจะทำให้เกิดการระคายเคือง และแผลไหม้ที่ปาก ลำคอ ท่ออาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้เกิดมีอาการตั้งแต่กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ชัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต

การปฐมพยาบาล

  • หากถูกผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วยการรินน้ำผ่านเป็นปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถ้าเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบถอดออกแล้วล้างร่างกายด้วยน้ำและสบู่อ่อน ส่วนเสื้อผ้าให้นำไปซักก่อนนำมากลับมาใช้ใหม่ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
  • หากเข้าตา ให้รีบล้างออกจากตาโดยเร็ว ด้วยการรินน้ำอุ่นให้ไหลผ่านตาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที พร้อมเปิดเปลือกตาบนและล่างเป็นครั้งคราว หากยังมีอาการระคายเคืองอยู่ให้นำผู้ป่วยไปพบแพทย์
  • หากหายใจเข้าไป ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่สัมผัสมายังที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ ถ้ามีอาการรุนแรงให้ช่วยผายปอดและปั๊มหัวใจ  แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
  • หากกลืนหรือกินเข้าไป ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา ถ้ายังมีสติอยู่ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตามเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ หรือให้ดื่มน้ำนมตามเข้าไปหลังจากดื่มน้ำเข้าไปแล้ว ล้างบริเวณปากผู้ป่วย และให้บ้วนปากด้วยน้ำ รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด พร้อมด้วยภาชนะบรรจุและฉลากของผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ

การเก็บรักษา

ควรแยกเก็บไว้ในที่มิดชิด เป็นสัดส่วนห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง และอย่าเก็บรวมกับอาหารหรือวางปะปนกับอาหาร นอกจากนี้ควรจัดเก็บในบริเวณที่แห้งไกลจากความร้อน แสงแดด เปลวไฟ วัตถุหรือสารไวไฟ รวมถึงโลหะหนัก เนื่องจากกรดไฮโดรคลอริกสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะได้เป็นแก๊สไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ง่ายซึ่งทำให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิดได้ และเมื่อใช้หมดแล้วควรทิ้งหรือทำลายภาชนะบรรจุหรือทำลาย ห้ามนำมาใส่อาหารหรือของบริโภคอื่น 

การใช้ประโยชน์

Hydrochloric acid ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายประการคือ
  • การถลุงแร่ดีบุกและแทนทาลัม
  • การผลิตสารประกอบ chlorides, ปุ๋ย
  • ปฏิกิริยาเคมีในห้องปฏิบัติการ
  • ปฏิกิริยาการแตกสลายด้วยน้ำสำหรับแป้งและโปรตีนในการผลิตอาหาร หลายชนิด
  • กำจัดแผ่นสนิมในหม้อต้มน้ำทางอุตสาหกรรม (boiler)
  • ปรับความเป็นกรดด่างในเภสัชภัณฑ์ต่างๆ
  • ใช้ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นห้องน้ำ ฝาผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เหมาะสำหรับคราบสกปรกมาก และคราบฝังแน่น 
วิธีการใช้  (กรดไฮโดรคลอริก 15%)
  • สำหรับการทำความสะอาด พื้นห้องน้ำ ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (การผสมให้ค่อยๆ เทน้ำยาลงในน้ำ)
  •  สำหรับการทำความสะอาด โถส้วม ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:1
  • สำหรับการฆ่าเชื้อโรค หลังทำความสะอาดแล้ว ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 เทราดลงบนพื้นบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ห้ามเทน้ำลงในน้ำยาที่มีกรดไฮโดรคลอริก 


กรดไฮโดรคลอริกมีคุณสมบัติเป็นกรดแก่ ทำปฏิกิริยากับหินปูน (แคลเซียม) เกิดฟองฟู่ของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และสามารถกัดกร่อนโลหะได้เป็นอย่างดี จึงใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อขจัดคราบที่เกิดจากการตกตะกอนของอนุภาคโลหะซึ่งเป็นคราบขาวเทา หรือคราบสนิมสีส้ม ตามผนังและพื้นห้องน้ำได้ นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่าง กระเบื้อง และโถส้วม นอกจากนั้นอาจจะผสมกับกรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid) และสารลดแรงตึงผิวเช่น Nonylphenol, Linear Alkyl Benzene Sulfonate (LAS) เพื่อให้สารออกฤทธิ์สัมผัสกับพื้นผิวห้องน้ำได้ดีขึ้น และทำความสะอาดได้ทั่วถึงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามถ้าใช้ผลิตภัณฑ์สูตรนี้บ่อยๆ อาจทำให้ผิวหน้าของพื้นห้องน้ำค่อยๆ หลุดออก ซึ่งเมื่อใช้ไปเป็นเวลานานพื้นห้องน้ำอาจถูกกัดเซาะผิวหน้าทำให้ขรุขระไม่เรียบมัน และทำให้คราบสกปรกติดฝังแน่นตรงรอยหยาบของผิวกระเบื้องได้มากขึ้น โดยทั่วไประยะเวลาของการถูกกัดเซาะนั้นก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผิวกระเบื้องที่ใช้ปูพื้นด้วย

ที่มาข้อมูล

  • ศิลปากรมหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). สารเคมีในชีวิตประจำวัน (น้ำยาล้างห้องน้ำ). สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม, 2559,จากhttp://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d013.htm
  • สุชาตา ชินะจิตร.(2004). ภัยใกล้ตัว (น้ำยาล้างห้องน้ำ). สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=93
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (HYDROGEN CHLORIDE). สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม, 2559,จากhttp://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/8232/823249.htm

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารปนเปื้อนในอาหาร : สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ที่มา : http://www.aggrogroups.com/2012/?hm=news&type=2&p=36
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพอากาศโดยทั่วไปเหมาะแก่การเพาะปลูก แต่เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอบอุ่นจึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของศัตรูพืช ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ยาฆ่าแมลงปัจจุบันพบว่ามีการใช้ ในการปราบศัตรูพืชมากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก สารปราบศัตรูพืชมีหลายชนิด เช่น สารฆ่าหญ้าและวัชพืช สารฆ่าแมลง และสารฆ่าเชื้อรา การใช้สารเคมีเหล่านี้อาจใช้ในระหว่างการเพาะปลูก ขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต หลังการเก็บเกี่ยว หรือระหว่างการเก็บรักษาและอื่น ๆ ซึ่งเกษตรกรบางคนใช้ในปริมาณมากเกินไป จนทำให้อาจตกค้างมากับอาหาร

ประเภทของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สารเคมีกําจัดศัตรูพืชในทางการเกษตรซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามชนิดของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการควบคุมและกําจัด คือ สารเคมีกําจัดแมลง สารป้องกันกําจัดวัชพืช สารป้องกันกําจัดเชื้อรา สารกําจัดหนูและสัตว์แทะ สารเคมีกําจัดหอยและปู เป็นต้น

สารเคมีกําจัดแมลง (Insecticide)

ที่มา : www.kokomax.com/product-th-594010-6753801-การทำสงครามระหว่างเกษตรกร+กับ+หนอนแมลงศัตรูพืช.html

สารเคมีกําจัดแมลงเป็นสารเคมีการเกษตรที่มีจํานวนชนิดมากที่สุด สารเคมีกําจัดแมลงแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามชนิดของสารเคมีได้ 4 ประเภท คือ
  1. กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine) ซึ่งเป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ สารเคมีกําจัดแมลงในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันมาก เช่น ดีดีที (DDT) ดีลดริน (Dieldrin) ออลดริน (Aldrin)  ท็อกซาฟีน (Toxaphene)  คลอเดน(Chlordane) และลินเดน (Lindane) เป็นต้น
  2. กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ เช่น มาลาไธออน (Malathion) และ เฟนนิโตรไธออน (Fenitrothion) เป็นต้น
  3. กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate) ซึ่งมีคาร์บาริลเป็นองค์ประกอบสําคัญ เช่น คาร์บาริล (Carbaryl) คาร์โบฟูแรน (Carbofuran) และเมโทมิล (Methomyl) เป็นต้น
  4. กลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) เป็นสารเคมีกลุ่มที่สังเคราะห์ขึ้นโดยมีความสัมพันธ์ตามโครงสร้างของไพรีทริน ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่สกัดได้จากพืชไพรีทรัม เช่น เดลตาเมธริน (Deltamethrin) เพอร์เมธริน (Permethrin)  เรสเมธริน (Resmethrin)  และไบโอเรสเมธริน (Bioresmethrin) เป็นต้น

สารป้องกันกําจัดวัชพืช (Herbicide)

ที่มา : http://lpmp-riceschool.blogspot.com/2013/07/blog-post_5508.html

สารเคมีกําจัดวัชพืชแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ จำแนกตามการเลือกทำลายเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
  1. สารชนิดเลือกทำลาย (Selective herbicide) โดยทำลายเฉพาะวัชพืช แต่ไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก เช่น 2,4-D กำจัดวัชพืชใบกว้างโดยไม่เป็นพิษต่อต้นข้าวที่เป็นพืชใบแคบ เป็นต้น
  2. สารชนิดไม่เลือกทำลาย (Non-selective herbicide) ทำลายวัชพืชใบแคบ ใบกว้าง หรือกก แนะนำให้ใช้กำจัดวัชพืชในที่ที่ไม่มีการปลูกพืช หรือถ้าจะพ่นในที่ที่มีพืชขึ้นอยู่หรืออยู่ใกล้เคียงต้องพ่นอย่างระมัดระวัง เช่น พาราควอท (Paraquat)  ไกลโฟเสท (Glyphosate) เป็นต้น

สารกําจัดเชื้อรา (Fungicide)


ที่มา : http://www.mississippi-crops.com/2013/06/01/soybean-fungicide-management-considerations-for-2013/

 มีอยู่หลายกลุ่ม บางชนิดมีพิษน้อย แต่บางชนิดมีพิษมาก เช่น

  • กลุ่มกลุ่ม Dimethey Dithiocarbamates เช่น ไซแรม(Ziram)  เฟอแบม (Ferbam) ไธแรม(Thiram) เป็นต้น มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Acetaldehyde dehydrogenase เกิด Antabuse Effect ในคนที่ดื่มสุราร่วมด้วย
  •     กลุ่ม Ethylenebisdithiocarbamates เช่น มาแนบ (Maneb) แมนโคแซบ (Mancozeb)    ไซแนบ (Zineb) เป็นต้น กลุ่มนี้จะถูก Metabolize เป็น Ethylene thiourea ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์
  • กลุ่ม Methyl Mercury ดูดซึมได้ดีทางผิวหนังและมีพิษต่อระบบประสาท
  • กลุ่ม Hexachlorobenzene ยับยั้งเอนไซม์ Uroporphyrinogen Decarboxylase มีพิษต่อตับ ผิวหนัง ข้อกระดูกอักเสบ
  • กลุ่ม Pentachlorophenol สัมผัสมากๆ ทำให้ไข้สูง เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว

สารกําจัดหนูและสัตว์แทะ (Rodenticides)

ที่มา : http://www.domyownpestcontrol.com/rats-c-21_217.html?page=all


สารกําจัดหนูและสัตว์แทะที่นิยมใช้กัน ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ตัวอย่างเช่น  วอฟฟาริน (Warfarin) เป็นต้น

ผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ
ทางผิวหนัง สารเคมีกําจัดศัตรูพืชจะเขาสูรางกายผานทางผิวหนังโดยตรง เชน ก่อนฉีดพ่น สัมผัสได้จากการผสมสารโดยไม่ใช้ถุงมือ ขณะฉีดพ่นสัมผัสจากการถูกละอองสารและเสื้อผาที่เปยกชุมดวยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช หลังฉีดพ่นสามารถสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีสารปนเปื้อนอยู่โดยไม่ใส่ถุงมือ เป็นต้น
ทางการหายใจ เกษตรกรที่ฉีดพนสารเคมีกําจัดศัตรูพืช หรือผูคนที่อยูใกลกับพื้นที่ฉีดพนจะไดรับสารเคมีกําจัดศัตรูพืชผานทางการหายใจได
ทางปาก เกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ เช่น การใช้มือที่ปนเปื้อนสารเคมีหยิบจับอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไป เป็นต้น หรือ การกิน ดื่มโดยเจตนา

ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

พิษเฉียบพลัน (Acute toxicity) ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงในทันทีหลังจากที่มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า แสบตา เป็นต้น
พิษเรื้อรัง (Chronic Toxicity) เกิดจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเวลานานและเกิดพิษสะสมจนก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาต่อสุขภาพ เช่น มะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน การพิการของทารกแรกเกิด การสูญเสียการได้ยิน การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

ความเป็นพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ปัญหาสุขภาพที่สำคัญคืออันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและมีเกษตรกรส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้สารเคมีฯที่ ไม่ถูกต้องปลอดภัยทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังอาการแสดงเฉียบพลันมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนรุนแรงถึงแก่ชีวิต ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้น ความเป็นพิษ และปริมาณที่ได้รับ ส่วนอาการเรื้อรัง
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะสะสมในระบบต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติและโรคต่างๆ เช่นมะเร็งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยการสัมผัสทางผิวหนัง การสูดหายใจละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศ และการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งพฤติกรรมการใช้สารเคมีที่ไม่ปลอดภัยนั้นทำให้เกษตรกรผู้อาศัยในชุมชนและผู้บริโภคมีความเสี่ยงจากการได้รับอันตรายจากสารเคมีเพิ่มขึ้น

ความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืชชนิดต่างๆ

สารออร์กาโนฟอสเฟต  (Organophosphate Insecticides) มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาท รอบนอก โดยจะจับกับตัวเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทหยุดการทำงาน ผลการจับ ตัวกับเอ็นไซม์ทำให้ปริมาณของเอ็นไซม์ ลดลง และมีผลต่อกล้ามเนื้อต่าง ๆ ต่อมต่าง ๆและกล้ามเนื้อเรียบซึ่ง ควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ในการทำงานมากกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสมีไม่มากพอที่จะ หยุดการทำงาน พบอาการ ม่านตาหรี่ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น เดินโซเซ ชัก หมดสติระบบกล้ามเนื้อพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริวที่กล้ามเนื้อ  ต่อมต่าง ๆ ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมา มาก ต่อมเหงื่อขับเหงื่อออกมามาก 
สารคาร์บาเมต  (carbamates) สารในกลุ่มนี้มีการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับสารออร์กาโนฟอสเฟต  แต่ความเป็นพิษน้อยกว่า อาการที่เกิดขึ้นเหมือนกับการได้รับสารออร์กาโนฟอสเฟต ยกเว้นอาการชัก ไม่รู้สึกตัวเกิดขึ้นน้อย 
สารออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine)  สารกลุ่มนี้ถูกดูดซึมที่ผิวหนัง เมื่อได้รับมาก ๆจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลาง ถูกขัดขวาง  พบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ 
สารไพรีทรอยด์ (Pyrethroides) เป็นสารที่มีความไวทางชีวภาพสูง และใช้แบบเจือจาง สารกลุ่มนี้ถูกกำจัดออกจาก ร่างกาย ไม่ถูกสะสมอยู่ในร่างกาย พบอาการชา หายใจเร็วตื้น เจ็บคอ คอแห้ง แสบจมูก คันตามผิวหนัง  ท้องเสีย น้ำลายไหลมาก  หนังตากระตุก เดินโซเซ 
สารกำจัดวัชพืช เช่น สารพาราควอท (Paraquat) ที่ออกฤทธิ์เร็วและจะเสื่อมฤทธิ์ทันทีเมื่อตกถึงพื้นดิน สารนี้ ละลายน้ำและแอลกอฮอล์ได้ดี ไม่มีสี มีกลิ่นอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นแอมโมเนีย สารนี้มีพิษต่อผิวหนัง และเยื่อเมือกพบอาการผิวหนังแห้งแตก ผื่นแดง เป็นแผล เล็บซีดขาว เล็บเปราะ ระบบหายใจ พบอาการไอ
เลือดกำเดาไหล เจ็บคอ หากรับประทานเข้าไปทำให้เกิดพังผืดที่ปอด การหายใจล้มเหลว 
สารเคมีกำจัดหนู เช่น ซิงค์ฟอสไฟด์ (Zinc Phosphide) มีความเป็นพิษมากเมื่อถูกน้ำและกรดในกระเพาะอาหารเกิดปฏิกิริยาได้แก๊สพิษฟอสฟีน (phosphine) ทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร ตับ ไต การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้มีน้ำคั่งในปอด ปวดศีรษะ หายใจขัด ความดันโลหิตสูง อาจทำให้เสียชีวิตภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง 
สารไธโอคาร์บาเมต (Thiocarbamates) เป็นสารกลุ่มรักษาโรคพืช ลักษณะอาการเกิดขึ้นมีลักษณะเหมือนไพรีทรอยด์ ทางเดินหายใจพบอาการ คอแห้ง แสบจมูก ไอ ตาพบอาการเคืองตา  ตาแดง ผิวหนัง พบอาการคันผิวหนัง มีจุดขาวที่ผิวหนัง ผื่นแดง 

ความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวัง 12 ชนิด

สารกําจัดศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวัง 12 ชนิด ที่กรมควบคุมโรคเห็นความสําคัญเป็นสารในกลุ่มเดียวกับวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวังซึ่งสารกําจัดศัตรูพืชกลุ่มนี้เป็นสารที่อยู่ในข่ายที่ต้องเฝ้าระวังในการใช้เนื่องจากเป็นสารที่มีปริมาณการใช้มาก มีความเป็นพิษสูง หรือมีการตกค้างระยะยาวในสิ่งแวดล้อม
สารทั้ง12 ชนิดนี้ ประกอบด้วย
  1. อัลดิคาร์บ (Aldicarb)
  2. บลาสติซิดิน เอส ( Blasticidin-S)
  3. คาร์โบฟูราน (Carbofuran)
  4. ไดโครโตฟอส (Dicrotophos)
  5. อีพีเอ็น (EPN)
  6. อีโธโปรฟอส (Ethoprofos)
  7. โฟมีทาเนต (Formethanate)
  8. เมทิดาไธออน (Methidathion)
  9. เมโทมิล (Methomyl)
  10. อ๊อกซามิล (Oxamyl)
  11. เอ็นโดซัลแฟน (Endosulfan)
  12. พาราไธออนเมทธิล(Parathion Methyl)

อาหารที่มักตรวจพบมีสารเคมีตกค้าง

ผักสด ผลไม้สด ปลาแห้ง เป็นต้น

วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

  • เลือกซื้อผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลงบ้าง
  • เลือกบริโภคผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หรือ ผักพื้นบ้าน
  • เลือกบริโภคผักใบมากกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า
  • ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง
  • ผักและผลไม้ที่ปลอกเปลือกได้ ควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนปอกเปลือก
  • เลือกซื้อผักผลไม้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น แหล่งผลิตที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง เป็นต้น

ที่มาข้อมูล :
  • สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม.(ม.ป.ป.).สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและผลกระทบต่อสุขภาพ.สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม,2559,จาก http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/405
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.(ม.ป.ป.).สารปนเปื้อนในอาหารสืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม,2559,จาก http://webnotes.fda.moph.go.th/consumer/csmb/csmb2546.nsf/aa98b95101fdb3f680256759002b9119/f7b38cf86269a20bc7256dc0000beacd?OpenDocument