ที่มา : https://onedd.net/tag/firework/
สีสันอันเป็นสัญลักษณ์สำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลลอยกระทง คริสต์มาส และวันปี ใหม่ คงหนีไม่พ้น พลุ หรือ
ดอกไม้ไฟ พลุและดอกไม้ไฟเป็นที่นิยมเล่นในหน้าเทศกาลเฉลิมฉลองทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ซึ่งความสว่างและความสวยงามของลูกไฟสีต่างๆ
ที่พุ่งขึ้นไปและแตกตัวกลางท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้นสามารถเติมสีสัน
ความสนุกสนานและเพิ่มบรรยากาศให้งานรื่นเริงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากจะมีแสงสี
ที่งดงาม ตระการตาแล้ว ยังมีเสียงที่ดังก้องกังวาน สร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับผู้ที่ได้ชมไม่
น้อย
แต่กว่าที่พลุและดอกไม้ไฟจะมีความสวยงามได้อย่างในทุกวันนี้
มันผ่านการปรับเสริมเติมแต่งมาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนปัจจุบันนี้การผลิตพลุ
และดอกไม้ไฟได้กลายเป็นทั้งศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้เรื่องสารเคมี
ผนวกกับศิลปะการออกแบบวิธีการระเบิดหรือวิธีการแตกตัวของพลุและดอกไม้ไฟ
เพื่อให้มีลูกเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้น
ความเป็นมาของพลุและดอกไม้ไฟ
ในอดีต พลุ หรือ ดอกไม้ไฟ เป็นเพียงวัตถุที่ติดไฟ
แล้วเกิดเสียงดังเท่านั้น ซึ่งส่วนประกอบสำคัญในการทำพลุ คือ ดินปืน โดยในบันทึกประวัติศาสตร์พบว่าผู้ค้นพบและ
ริเริ่มการทำดินปืน คือ ชาวจีน
มีการเล่าขานกันว่า ดินปืน
ถูกค้นพบโดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวจีนในระหว่างการคิดค้นหาสูตรยาอายุวัฒนะ ด้วยการทดลองนำดินประสิวหรือโปตัสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate) และกำมะถัน (Sulfur) มาผสมกันแล้วเกิดเป็นแผ่นแป้งสีดำ
ซึ่งลุกติดไฟได้เมื่อเกิดการเผาไหม้ และมีการตั้งชื่อสารชนิดนี้ว่า “ดินดำ” หรือ “ดิน ปืน”
(Black
powder)
ส่วนจุดเริ่มต้นในการนำดินดำมาใช้ในการทำพลุนั้น
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนได้มีการบันทึกไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ผี
ปีศาจ หรือสิ่งที่ชั่วร้าย มากกว่าเฉลิมฉลอง โดยสมัยก่อนตามป่าลึกที่น่ากลัว มักมีคำร่ำลือว่ามีผี
ชื่อว่าซันเซา อาศัยอยู่หากผู้ใดพบจะเกิดอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย จับไข้ ช่วงแรกชาวจีนใช้วิธีการขับไล่ด้วยการนำไม้ไผ่มาตัดเป็นข้อปล้อง แล้วโยนเข้ากองไฟ ซึ่งเมื่อกระบอกไม้ไผ่ไหม้ก็จะแตกออกและมีเสียงดัง
จากนั้นก็ได้มีการทดลองนำดินปืน
ซึ่งมีส่วนผสมของดินประสิว กำมะถัน และผงถ่าน ใส่เข้าไปใน กระบอกไม้ไผ่ พบว่าเมื่อส่วนผสมดินปืนภายในติดไฟและลุกไหม้
ทำให้เกิดแก๊สร้อนขยายตัวขึ้น ดันกระบอกไม้ไผ่ระเบิดออกเป็นเสี่ยงและเกิดเสียงดัง จึงมีความเชื่อว่าหากนำไปจุดในป่าลึกแล้ว
จะทำให้ซัน เซาหวาดกลัว หนีไป ซึ่งต่อมาได้มีการนำกระดาษมาใช้ห่อดินปืนแทนกระบอกไม้ไผ่
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ การประดิษฐ์ “ประทัด” นั่นเอง
ทว่าด้วยพลังแห่งเสียงและอำนาจการทำลายล้างจากการระเบิด
ทำให้หลายประเทศเริ่มนำดินปืน ไปใช้ในการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการสู้รบในยามสงคราม
แต่ไม่นานนักความสว่างไสวสวยงามของ สะเก็ดไฟ ก็จุดประกายให้ชาวอิตาลีเริ่มหันมาคิดค้น
นำดินปืนมาสร้างสรรค์ให้เป็นดอกไม้ไฟที่สวยงาม โดยมีการดัดแปลงโดยเพิ่มโลหะกับถ่านเข้าไปในส่วนผสมที่ใช้ทำจรวด
ซึ่งเมื่อปล่อยขึ้นฟ้าก็จะเปล่ง ประกายแสงสีเงินสีทองสวยงาม อีกทั้งต่อมายังมีการคิดค้นวิธีควบคุมให้ดอกไม้ไฟระเบิดกระจายกลาง
ท้องฟ้าในรูปแบบต่างๆ มากมาย
การค้นพบดินปืน ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของจีน
นับเป็นหนึ่งในสี่สิ่งประดิษฐ์ หรือ จตุรประดิษฐ์ ที่มีการกล่าวขาน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ
ชาวจีนที่มีมาแต่ดั้งเดิมเลยทีเดียว
เราเห็นแสงสีต่างๆจากพลุหรือดอกไม้ไฟได้อย่างไร
สเปกตรัม (Spectrum)
ตามปกติ
มนุษย์จะมองไม่เห็นสีของแสงจากดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าแสงขาว ในแสงขาวจะมีคลื่นแสงที่ประสาทตาของมนุษย์สามารถมองเห็นได้
เรียกว่า แสงที่มองเห็นได้ (Visible
light) ซึ่งมีความยาวคลื่นในช่วง 400 – 700 nm
เมื่อแสงขาวผ่านปริซึมจะกระจายออกเป็นแสงสีต่างๆต่อเนื่องกัน
เรียกสเปกตรัมแบบต่อเนื่อง (Continuous spectrum) โดยมีแสงสีม่วงหักเหมากที่สุดเพราะเป็นแสงที่มีพลังงานสูงแต่ความยาวคลื่นสั้น
ถัดจากแสงสีม่วงเป็นสีน้ำเงินจนถึงแสงสีแดงหักเหน้อยที่สุด
เพราะเป็นแสงที่มีพลังงานต่ำ แต่ความยาวคลื่นยาว
สเปกตรัมของแสงขาว
ที่มา : http://macnews.tistory.com/5025
การศึกษาสเปกตรัมนอกจากจะพิจารณาได้จากแสงขาว
ยังอาจศึกษาได้จากการเผาสารประกอบของธาตุที่เป็นของแข็ง แล้วสังเกตสีของเปลวไฟ
เมื่อแสงเหล่านี้ผ่านปริซึมจะมีสเปกตรัมเกิดขึ้นเป็นเส้นสีต่างๆซึ่งอาจเป็นแถบต่อเนื่องกันหรือแถบไม่ต่อเนื่องกันแต่ปรากฏเป็นเส้นสีต่างๆ
สเปกตรัมแบบนี้เรียกว่า เส้นสเปกตรัม (Line
spectrum)
การตรวจสอบเส้นสเปกตรัมจากการเผาสารประกอบของธาตุ
โดยใช้ลวดโลหะแพลทินัมหรือลวดนิโครม จุ่มกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น นำไปแตะสารตัวอย่าง
แล้วนำไปเผา สังเกตเห็นสีของเปลวไฟปรากฏขึ้นและเมื่อส่องดูด้วยแผ่นเกรตติง
จะเห็นสีของสเปกตรัมที่ชัดเจน จากการทดสอบด้วยวิธีนี้พบว่า
เมื่อใช้สารประกอบของธาตุต่างชนิดกันจะให้สีของเปลวไฟต่างกัน หรือใกล้เคียงกัน
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบดูเส้นสเปกตรัมก็จะพบว่าต่างกันเสมอ
เครื่องมือเผาสารดูสีเปลวไฟ (Flame Test)
ที่มา
: http://chm1046.freehosting.net/Lab%20Expts/Qualitative%20Analysis_files/image004.gif
เปลวไฟของธาตุบางชนิด
ที่มา : http://ryanzahnfirelabreport.blogspot.com/2015_10_01_archive.html
เมื่อนำสารประกอบของโลหะแต่ละชนิด
นำมาเผาจะให้สีเปลวไฟของธาตุแตกต่างไปตามชนิดของโลหะ
การดูสีเปลวไฟมักมองด้วยตาเปล่าเห็นเพียงสีเดียวที่เป็นสีเด่นชัดที่สุด
แต่ถ้าส่องดูด้วยเกรตติงหรือสเปกโทรสโคป จะพบว่า สีของเปลวไฟจะแยกออกเป็นเส้น
ๆ หลายสี แต่มีสีที่เด่นชัดเพียงสีเดียว คือเส้นสเปกตรัมที่มีสีเหมือนเปลวไฟ
การเกิดเส้นสเปกตรัมของธาตุ
อะตอมจะปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง เมื่อได้รับพลังงาน โดยพลังงานอาจจะมาจากหลายแหล่ง เช่น ความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือ แสง อะตอมของแต่ละธาตุจะเปล่งแสงที่มีค่าความถี่จำเพาะเท่านั้น ดังนั้นเราจึงเห็นสีของแต่ละธาตุแตกต่างกันออกไปเพราะมีความถี่ต่างกัน อะตอมของโซเดียมจะเปล่งแสงสีเหลือง ซึ่งจะใช้ผลิตหลอดไฟให้ความสว่างบนถนน เนื่องจากสายตาของมนุษย์ไวต่อแสงสีเหลือง หลอดไฟนีออนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้ประโยชน์จากธาตุนีออนซึ่งเปล่งแสงให้สีแดงส้ม เมื่อเรามองแสงผ่านสเปคโตรสโคปจะเห็นว่า แสงเหล่านั้นจะเป็นเส้น แทนที่จะเป็นแถบต่อเนื่องของสเปกตรัม เราเรียกเส้นสเปกตรัมที่เห็นนี้ว่า สเปกตรัมของอะตอม
จากการทดลองเผาสารประกอบของโลหะให้เปลวไฟสีต่างๆ
กันตามชนิดของโลหะ
จึงทำให้เกิดความคิดที่ว่าโลหะน่าจะมีส่วนที่รับพลังงานความร้อนเข้าไป
แล้วเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้เป็นพลังงานแสง การที่โลหะต่างชนิดกัน ให้สีต่างกันนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าโลหะแต่ละชนิดคายพลังงานความร้อนออกมาได้ไม่เท่ากัน ความถี่และความยาวคลื่นแตกต่างกัน ตามกฎของพลังค์ (Max
Karl Ernst Ludwig Planck) ดังนั้นการอธิบายการเกิดสเปกตรัมจึงตั้งอยู่ในสมมุติฐานที่ว่า อะตอมน่าจะมีส่วนที่รับและคายพลังงาน จากแบบจำลองอะตอมของรัทเทอร์ฟอร์ด
อิเล็กตรอนจะวิ่งรอบ ๆ นิวเคลียส ดังนั้นส่วนที่จะรับและคายพลังงานได้ควรเป็นอิเล็กตรอน
โดยอิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่อยู่ในบริเวณที่มีผลรวมของพลังงานศักย์ (คือพลังงานที่เกิดจากแรงดึงดูดระหว่างอิเล็กตรอนกับโปรตอน) และพลังงานจลน์ (คือพลังงานที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน)
ต่ำที่สุด คือสถานะพื้น (Ground
state) เมื่ออะตอมได้รับพลังงานความร้อนมากขึ้นอิเล็กตรอนจะรับพลังงานจำนวนหนึ่ง ทำให้อิเล็กตรอนมีพลังงานสูงขึ้น จึงต้องเปลี่ยนจากระดับพลังงานเดิมไปสู่ระดับพลังงานที่สูงขึ้น
เรียกสภาวะใหม่นี้ว่าสถานะกระตุ้น (Excited state) ที่สถานะกระตุ้นนี้อิเล็กตรอนไม่เสถียร จึงมีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีพลังงานต่ำ
จะต้องคายพลังงานออกมาเท่ากับพลังงานที่รับเข้าไปในรูปของพลังงานแสงที่เป็นเส้นสเปกตรัม ซึ่งปรากฏเป็นสีต่างๆตามธาตุนั้นๆ จึงสามารถเขียนอธิบายได้ดังรูป
สารเคมีที่ใช้ในการทำดอกไม้ไฟ
ดอกไม้ไฟมีการใช้สารเคมีซึ่งทำหน้าที่สำคัญ
6 ส่วนด้วยกันคือ
- เชื้อเพลิง สารที่นิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงได้แก่ ดินปืน
- สารออกซิไดซ์ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ สารเคมีที่ใช้จะเป็นพวกไนเตรทคลอเรต หรือ เปอร์คลอเรต เช่น แอมโมเนียมเปอร์คลอเรต (Ammonium perchlorate : NH4ClO4) แบเรียมไนเตรท (Barium nitrate : Ba(NO3)2) โปแตสเซียมคลอเรต (Potassium chlorate: KClO3) โปแตสเซียมไนเตรท (Potassium nitrate: KNO3) โปแตสเซียมเปอร์คลอเรต (Potassium perchlorate: KClO4) และสตรอนเทียม ไนเตรท (Strontium nitrate: Sr(NO3)2)
- สารรีดิวซ์ ทำหน้าที่เผาไหม้ออกซิเจนที่สารออกซิไดซ์ปลดปล่อยออกมา เพื่อให้เกิดแก๊สร้อน สารที่ใช้กันได้แก่ ซัลเฟอร์และดินปืน ซึ่งเมื่อเผาไหม้จะให้แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
- สารควบคุมความเร็วของการเผาไหม้ โลหะบางชนิดจะถูกเติมลงไปเพื่อควบคุมความเร็วของปฏิกิริยาเผาไหม้ ความเร็วของปฏิกิริยาแปรผันตามพื้นที่ผิวของโลหะ
- สารที่ทำให้เกิดสี ตัวอย่างเช่น สตรอนเทียม ให้สีแดง ทองแดงให้สีน้ำเงิน แบเรียมให้สีเขียว โซเดียมให้สีเหลืองและส้ม และแคลเซียมให้สีส้ม เป็นต้น
- ตัวประสาน ทำหน้าที่ยึดส่วนผสมต่าง ๆ ให้เกาะติดกัน สารที่นิยมใช้ได้แก่ เด็กซ์ทริน (Dextrin)
นอกจากนี้ยังมีสารที่ให้คุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ เช่น
แมกนีเซียมซึ่งจะให้แสงสว่างจ้ามาก ๆ ใช้เพื่อเพิ่มความสว่างไสวของดอกไม้ไฟ
พลวงให้แสงแวววาวระยิบระยับ สังกะสีทำให้เกิดควัน ไทเทเนียมให้ประกายสีเงิน
เป็นต้น
ส่วนประกอบดอกไม้ไฟ
ส่วนประกอบดอกไม้ไฟ
ที่มา : https://disayaphong.wordpress.com/2008/11/12/fireworks/
ดอกไม้ไฟมีส่วนประกอบดังนี้
- Lift Charge เป็นส่วนที่ทำให้ดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นจากพื้นแล้วทำให้ดินปืนเผาไหม้ในพื้นที่จำกัด ส่งผลให้เกิดการระเบิดขนาดใหญ่ เพราะมีความร้อนและก๊าซในกระบอกเพิ่มสูงมาก การระเบิดนี้สามารถทำให้ดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง 1,000 ฟุต
- Fuse ตัวจุดชนวน ให้ Lift Charge ทำงาน
- Launch Tube เป็นส่วนสำคัญของดอกไม้ไฟ ต้องทำให้ปิดสนิท ไม่ให้แก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้เล็ดลอดออกมาจากกระบอกได้ ซึ่งจะทำให้ความดันในกระบอกลดต่ำลง ดอกไม้ไฟจะไม่พุ่งขึ้น
- ดินปืน มีส่วนผสมดังนี้ โปแตสเซียมไนเตรท 75 % คาร์บอน 15% ซัลเฟอร์ 10%
- Stars คือส่วนที่จะให้สี จะเป็นเม็ดสารผสมของสารให้สีกับดินปืน การจัดเรียงเม็ดสีมีผลต้อรูปร่างของดอกไม้ไฟตอนระเบิดในอากาศด้วย และสามารถทำให้ระเบิดในเวลาต่างกันได้
- Time Delay Fuse ระหว่างที่ดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นไปในอากาศ การลุกไหม้จะต่อเนื่องไปยังตัวจุดระเบิดอีกตัวหนึ่งซึ่งจะทำให้เม็ดสีที่บรรจุในกระบอกระเบิดขึ้นเป็นส่วน ๆ ไป
- Break เป็นส่วนสุดท้ายที่ระเบิด จะเป็นส่วนที่ระเบิดแรงที่สุด ความแรงจะขึ้นกับความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ทำ
หลักการทำงานของดอกไม้ไฟ
หลักการทำงานดอกไม้ไฟ
ที่มา : https://disayaphong.wordpress.com/2008/11/12/fireworks/
เมื่อชนวนบริเวณฐานถูกจุดขึ้น (ขั้นตอนที่ 1)
ตัวของดอกไม้ไฟจะพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในขณะเดียวกันชนวนหน่วงเวลาจะถูกจุดขึ้นระหว่างนั้น
ความยาวของชนวนหน่วงเวลาจะเป็นตัวกำหนดระดับความสูงของการระเบิด (ขั้นตอนที่ 2)
และเมื่อชนวนหน่วงเวลาถูกเผาไหม้จนหมดจะทำให้เกิดการระเบิดของเชื้อปะทุระเบิด
(Burst charge) ที่บรรจุอยู่ภายในตัวดอกไม้ไฟ
ส่งผลให้เม็ดดาว (Stars) ที่ถูกเรียงตามรูปแบบที่ต้องการเกิดการระเบิดขึ้นอีกต่อหนึ่ง
(ขั้นตอนที่ 3)
ภายในเม็ดดาว หรือ Stars จะประกอบไปด้วยเชื้อเพลิงและสารเคมีชนิดต่างๆ
ที่รอทำปฏิกิริยาภายหลังการระเบิด เมื่อเชื้อเพลิงภายในเม็ดดาวลุกติดไฟจะมีการถ่ายเทอิเล็กตรอนไปยังตัวออกซิไดซ์
(Oxidizer) ซึ่งเป็นสารประกอบเปอร์คลอเรท
และเกิดแก๊สออกซิเจนเป็นผลิตภัณฑ์
ความเสี่ยงภัยและอันตรายต่อสุขภาพจากดอกไม้ไฟ
ผลกระทบที่อาจเกิดจากดอกไม้ไฟต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีดังนี้คือ
- อุบัติเหตุ อาจเกิดขึ้นได้ถ้ามีการเก็บรักษาไม่เหมาะสมระหว่างจำหน่ายหรือใช้งาน
- เสียงดังรบกวนผู้อยู่ใกล้เคียง
- มลพิษทางอากาศ จากการเผาไหม้สารเคมีส่วนผสม ซึ่งจะให้ของแข็งออกมา เช่นการเผาไหม้ดินปืนจะให้โปแตสเซียม คาร์บอเนต โปแตสเซียม ซัลเฟต และโปแตสเซียม ซัลไฟด์ และซัลเฟอร์ที่ไม่ได้ทำปฏิกิริยา ของแข็งที่ได้นี้จะมีสารพวกออกไซด์ของโลหะผสมอยู่ และอาจมีคลอไรด์ ผสมอยู่บ้างด้วย ของแข็งที่ได้เหล่านี้จะกลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ การแสดงดอกไม้ไฟขนาดยิ่งใหญ่ยิ่งก่อให้เกิดฝุ่นละอองปริมาณมาก
- ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดต่อเนื่องจากการปลดปล่อยสารที่ได้จากการเผาไหม้ดอกไม้ไฟ เมื่อสารเหล่านี้ตกสะสมในดิน พืชผลต่าง ๆ หรือแหล่งน้ำ
- กากของเสีย
คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานดอกไม้ไฟ
- อ่านวิธีการใช้อย่างระมัดระวังก่อนจุดชนวน
- สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม โดยควรใส่กางเกงขายาว เสื้อผ้าฝ้าย
แว่นป้องกันตา รองเท้าที่ปิดเท้าทั้งหมด
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะเล่นดอกไม้ไฟ
- เก็บดอกไม้ไฟให้ห่างจากเปลวไฟ ไม่สูบบุหรี่ใกล้ ๆ
- อย่าให้ดอกไม้ไฟเปียกน้ำ และ อย่าจุดดอกไม้ไฟที่เปียกน้ำ
- เก็บดอกไม้ไฟในที่แห้งและเย็น ห่างจากเด็ก
และระวังอย่าให้เด็กเล็กกินดอกไม้ไฟหรือเอาเข้าปาก
- อย่าให้เด็กเล่นดอกไม้ไฟโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล
และต้องสอนให้เด็กเข้าใจวิธีการใช้ดอกไม้ไฟอย่างดีก่อนอนุญาตให้เล่น
- อย่าโยนดอกไม้ไฟใส่คนอื่นหรือสัตว์
- อย่าจุดดอกไม้ไฟในที่ที่มีคนหนาแน่น
- ใช้ที่จุดชนวนที่เหมาะสม
ให้มีระยะห่างระหว่างคนจุดกับดอกไม้ไฟพอสมควร
- ไม่นำดอกไม้ไฟที่ด้านหรือไม่ระเบิดมาเล่นอีก
ดอกไม้ไฟที่ไม่ทำงานพวกนี้ต้องแช่ไว้ในถังน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนทิ้ง
- อย่าจุดดอกไม้ไฟเมื่อมีลมพัดแรง ๆ
- ไม่จุดดอกไม้ไฟใกล้วัตถุไวไฟ
- เก็บดอกไม้ไฟที่ยังไม่ได้จุดในภาชนะปิดสนิทและวางไว้เหนือลมในขณะที่กำลังจุดดอกไม้ไฟ
- ไม่แกะดอกไม้ไฟ
- เตรียมถังน้ำไว้ใกล้ ๆ
- เตรียมชุดปฐมพยาบาลสำหรับแผลไหม้ไฟ
ถ้าเกิดเหตุเป็นแผลไหม้ไฟเหนือไหล่ขึ้นไปต้องรีบรักษาทันที
- หลังจุดดอกไม้ไฟหมดแล้ว ต้องเก็บเศษซากดอกไม้ไฟตามพื้นให้หมด
และทิ้งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันเด็กเก็บดอกไม้ไฟที่ด้านมาเล่น
- ไม่จุดดอกไม้ไฟที่ถืออยู่ในมือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
หรือถือดอกไม้ไฟที่จุดแล้ว
- จุดดอกไม้ไฟทีละอัน อย่าจุดหลาย ๆ อันในเวลาเดียวกัน
- อย่าจุดดอกไม้ไฟโดยวางไว้ในภาชนะที่เป็นโลหะหรือแก้ว
- ไม่ใส่หรือพกพาดอกไม้ไฟไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง
ที่มา :- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (ม.ป.ป.).สีสันแห่งดอกไม้ไฟ.สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม, 2559,จาก http://nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/77.pdf
- วลัยพร มุขสุวรรณ.(2549).ดอกไม้ไฟ.สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น