วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารเคมีในห้องน้ำ : ลูกเหม็น (Mothball)

ที่มา : www.siamchemi.com/ลูกเหม็น/
เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่มักนำมาใส่ตู้เสื้อผ้าเพื่อป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือนำมาใส่ในห้องน้ำเพื่อช่วยดับกลิ่น ส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งที่เป็นเม็ดขาวๆหรือที่เราเรียกชื่อทั่วไปว่า"ลูกเหม็น” ลูกเหม็นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งชนิดก้อน ชนิดเม็ด และชนิดผลึก ลูกเหม็นประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่าแนพทาลีน (naphthalene) มากกว่าร้อยละ 99 โดยน้ำหนัก สารชนิดนี้สามารถระเหิดหรือเปลี่ยนสถานะที่อุณหภูมิห้องจากของแข็งกลายเป็นไอที่มีกลิ่นป้องกันแมลงได้ แนพทาลีนเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ พบได้ในถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และเกิดจากการเผาไหม้ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไม้ บุหรี่ ปัจจุบันนอกจากมีการนำแนพทาลีนไปใช้เป็นลูกเหม็นกันแมลงแล้ว ยังมีการผลิตแนพทาลีนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลาสติกพีวีซี เรซิน สารฟอกหนัง สีย้อม และสารฆ่าแมลงบางประเภทอีกด้วย
แนพทาลีน (naphthalene)
ชื่อทางเคมี : NAPHTHALENE
ชื่ออื่น : ลูกเหม็น
สูตรเคมี : C10H8
สูตรโครงสร้าง :
ที่มา : http://chemistry.about.com/od/factsstructures/ig/Chemical-Structures---N/Naphthalene.htm
มวลโมเลกุล : 128.17 amu.
จุดเดือด/ข่วงการเดือด : 218 oC  ที่ 760 mmHg
จุดหลอมเหลว/ช่วงการหลอมเหลว : 77 oC
การละลาย : ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในตัวทำละลาย เช่น เอทานอล เบนซีน อีเทอร์ คีโตน  เป็นต้น

การผลิต

แนฟทาลีนเป็นส่วนที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

ลักษณะทางกายภาพและเคมี

แนพทาลีนมีลักษณะเป็นของแข็งสีขาว   มีกลิ่นเฉพาะตัว   เปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิห้อง   ไอระเหยของแนพทาลีนสลายตัวได้ในอากาศด้วยแสงแดดและความชื้น แนพทาลีนทำปฏิกิริยารุนแรงกับตัวออกซิไดซ์แรง ไนโตรเจนออกไซด์

ประโยชน์ของแนพทาลีน

ที่มา : https://natkrt.wordpress.com/หลายเรื่องจริงของแมลงส/
  1. ใช้ในห้องปฏิบัติการเคมี (Laboratory Reagent)
  2. ใช้เป็นส่วนผสมของสารกำจัดกลิ่น และไล่แมลง เช่น ผลิตภัณฑ์ลูกเหม็น
  3. เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เคมีหลายชนิด เช่น สี
  4. ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษสำเนา
  5. ไอจากการระเหิดมีกลิ่นและฤทธิ์ไล่แมลง และกลบกลิ่นอื่นๆ จึงใช้ป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือใช้เพื่อดับกลิ่นได้

ความเป็นพิษ

การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนำไปสู่การเกิดเมธฮีโมโกลบินซึ่งจะก่อให้เกิดอาการตัวเขียวได้ถ้ามีความเข้มข้นสูงพอ การเริ่มแสดงอาการอาจจะเกิดช้าไปซัก 2 ถึง 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น  แนพทาลีนเป็นพิษต่อเรตินาและการมีผลต่อการดูดซึมของร่างกาย ไอของแนพทาลีนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 15 ppm อาจทำให้เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ เกิดการบาดเจ็บของกระจกตา และระคายเคืองตาอย่างรุนแรง  มีรายงานว่าการกลืนกินสารในปริมาณมากได้ก่อให้เกิดภาวะเลือดจางซึ่งเกี่ยวเกิดจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายขั้นรุนแรงและภาวะที่ปัสสาวะมีฮีโมโกลบินด้วย โดยปกติแนพทาลีนสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้  โดยการหายใจเอาอากาศที่มีไอระเหยของแนพทาลีนจากเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น หรือสัมผัสกับลูกเหม็นหรือเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น รวมไปถึงจากการกินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจากอุบัติเหตุ เช่น ในเด็ก ในชีวิตประจำวันที่มีการสูดดมไอของแนพทาลีนที่ค่อยๆ        ระเหิดออกมาจากก้อนลูกเหม็นเข้าไปในปริมาณไม่มาก    และไม่ต่อเนื่องก็อาจไม่แสดงอาการของการเกิดอันตราย    อย่างไรก็ตามการได้รับแนพทาลีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลต่อสุขภาพดังนี้
การสัมผัสทางผิวหนัง :
อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
การสัมผัสทางตา : 
อาจทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา เป็นพิษต่อเรตินา ไอของแนพทาลีนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 15 ppm อาจทำให้เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ เกิดการบาดเจ็บของกระจกตา และระคายเคืองตาอย่างรุนแรง
การสูดดม : อาจเป็นอันตรายหากสูดดม      สารนี้อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่แผ่นเยื่อเมือก    และบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
การกลืนกิน : 
ทำให้คลื่นไส้     อาเจียน     ท้องเดิน     เมื่อแนพทาลีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดเมธฮีโมโกลบินซึ่งจะก่อให้เกิดอาการตัวเขียวได้ถ้ามีความเข้มข้นสูงพอ    การเริ่มแสดงอาการอาจจะเกิดช้าได้ภายใน 2 ถึง 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น อาจมีเลือดออกในปัสสาวะ และอาจเสียชีวิตได้
หากได้รับแนพทาลีนในปริมาณมาก เม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายทำให้เกิดภาวะโลหิตจางซึ่งจะพบในคนที่กินลูกเหม็น พบว่า ทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ คนที่มีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำหรือมีเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) บกพร่องจะเกิดภาวะโลหิตจางได้ง่ายเมื่อได้รับแนพทาลีน
นอกจากนี้แนพทาลีนที่ตกค้างในร่างกายของแม่   สามารถส่งผ่านไปยังลูกผ่านทางรกและนมแม่ได้และอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแนพทาลีนมีผลต่อพัฒนาการหรือเป็นพิษต่อทารกในครรภ์    การทดลองในสัตว์พบว่าการสูดดมแนพทาลีนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดเนื้องอกและมะเร็งในจมูกและปอด แต่ไม่พบหลักฐานยืนยันการก่อมะเร็งในคน    ดังนั้นบางหน่วยงานจึงจัดแนพทาลีน   เป็นสารที่เป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งในคน ในขณะที่บางหน่วยงานจัดระดับความเป็นอันตรายของแนพทาลีนว่าไม่เป็นสารก่อมะเร็งในคน

การปฐมพยาบาล

เมื่อสูดดมสาร:
หากสูดดมสารแนพทาลีนเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจให้การช่วยหายใจ  หรือถ้าผู้ป่วยหายใจลำบาก ทำการให้ออกซิเจน
เมื่อสัมผัสสาร :
ในกรณีที่สารแนพทาลีนถูกผิวหนัง ให้ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  ถอดเสื้อและรองเท้าที่เปื้อนสารออก  หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์
เมื่อสารเข้าตา :
ในกรณีที่สารแนพทาลีนเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  และต้องแน่ใจว่าได้ทำการล้างตาอย่างเพียงพอ โดยในขณะล้างตาให้ใช้นิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้างเพื่อให้น้ำสามารถชะล้างสารแนพทาลีนออกไปให้มากที่สุด  หลังจากนั้นไปพบแพทย์
เมื่อกลืนกิน :
เมื่อกลืนกินสารแนพทาลีนเข้าไป ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ยังมีสติอยู่ให้ใช้น้ำบ้วนปาก หลังจากนั้นไปพบแพทย์

ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ :

เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำดื่ม กำจัดได้ยาก ห้ามทิ้งลงสู่ระบบน้ำ, น้ำเสีย หรือดิน

ข้อควรปฏิบัติและการเก็บรักษา 

เมื่อไม่ได้ใช้ควรปิดให้แน่น   เก็บในที่แห้ง   เก็บในที่เย็น บริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เก็บห่างจากแหล่งกำเนิดประกายไฟและความร้อนและพ้นมือเด็ก  ก่อนจะใช้เสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็นป้องกันแมลง   ให้นำออกมาตากแดดหรือผึ่งลม   เพื่อกำจัดกลิ่นและไอระเหยของแนพทาลีนที่ตกค้างเสียก่อน และควรซักอีกครั้งก่อนที่จะสวมใส่ หลีกเลี่ยงการใช้ลูกเหม็นกับเสื้อผ้าของเด็กและทารก ลดปริมาณการใช้ก้อนดับกลิ่นโดยไม่จำเป็น

ที่มาของข้อมูล :
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. (2004). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (NAPHTHALENE). สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst91-20-3.html
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.(ม.ป.ป.).ลูกเหม็น.สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก  http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15858&id_L3=3115

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น