วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารเคมีในห้องน้ำ: น้ำยาล้างห้องน้ำ

ที่มา : http://www.clipartkid.com/bathroom-cartoon-cliparts/
ห้องน้ำเป็นห้องที่เราใช้อยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะธุระส่วนตัว ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ฯลฯ จากกิจกรรมต่างๆมากมายก็ทำให้ห้องน้ำของเรามีโอกาสสกปรกมากกว่าส่วนอื่น ดังนั้นเราจึงต้องทำความสะอาดห้องน้ำของเราเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสุขอนามัยที่ดีและความสุขใจเวลาที่เราเข้าไปใช้งานปัจจุบันผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนผู้บริโภคนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะทำให้เบาแรงในการทำความสะอาดมาก เหมือนกับที่โฆษณาว่าแค่ราดทิ้งไว้ แป๊บเดียวก็สะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีอาจใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นก็ได้ ดังนั้นน่าจะมาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำในเรื่องของสารเคมีที่ใช้ผสมในผลิตภัณฑ์กัน
โดยทั่วไปในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำจะใช้กรดเกลือหรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริก (HCl) ซึ่งในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 15 โดยน้ำหนัก และมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดชะล้างรอยเปื้อนภายใน 5 นาที
กรดไฮโดรคลอริกคืออะไร มีประโยชน์หรือมีอันตรายอย่างไร

Hydrochloric acid  (HCl)

ชื่อตาม IUPAC : Hydrochloric acid
สูตรเคมี : HCl
สูตรโครงสร้าง : H – Cl
มวลโมเลกุล :  36.46 amu.
กรดไฮโดรคลอริกเป็นสารละลายของแก๊ส Hydrogen chloride (HCl) ทั้ง Hydrochloric acid และ Hydrogen chloride มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง Hydrochloric acid เมื่อถูกกับอากาศจะกลายเป็นควันของ Hydrogen chloride ในทางการค้า Hydrochloric acid ชนิด reagent grade ประกอบด้วย HCl ร้อยละ 38

ข้อควรระวังในการใช้

ที่มา : http://3stylelife.com/house-cleaning/

เมื่อต้องใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริกเป็นส่วนประกอบ นอกจากจะใช้ให้เหมาะสมกับงานแล้ว ควรมีความระมัดระวังในการใช้และคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะได้รับด้วย ดังนี้
  • ขณะใช้ควรสวมถุงมือยาง และรองเท้ายาง ภายหลังจากการใช้หรือหยิบจับ ควรล้างถุงมือยาง รองเท้ายาง และมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
  • ระวังอย่าให้เข้าตา ถูกผิวหนัง หรือสูดดม และห้ามรับประทาน
  • ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริก หรือภาชนะบรรจุลงในแม่น้ำ คูคลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม

ความเป็นพิษ

กรดไฮโดรคลอริกในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัส การหายใจและการรับประทานหรือกลืนกิน โดยทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังนี้
  • ถ้ากรดไฮโดรคลอริกถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ บวม แดง เจ็บแสบและอาจทำให้เกิดผลเสียอย่างถาวรต่อผิวหนัง
  • ไอระเหยหรือละอองไอของกรดไฮโดรคลอริกแม้ในปริมาณน้อยๆ ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ ทำให้ตาแดง ในความเข้มข้นสูงๆ ทำให้เกิดแผลไหม้หรือตาบอดได้
  • การสูดดมไอระเหยของกรดไฮโดรคลอริกทำให้เกิดฤทธิ์กัดกร่อนระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่แสบจมูก ลำคอ ไปจนถึงหายใจลำบากได้ ถ้าสูดดมในปริมาณสูงๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นแผลไหม้ มีแผลอักเสบที่จมูกและลำคอ ปอดบวมน้ำและหายใจลำบาก
  • การกลืนหรือกินจะทำให้เกิดการระคายเคือง และแผลไหม้ที่ปาก ลำคอ ท่ออาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้เกิดมีอาการตั้งแต่กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ชัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต

การปฐมพยาบาล

  • หากถูกผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วยการรินน้ำผ่านเป็นปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถ้าเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบถอดออกแล้วล้างร่างกายด้วยน้ำและสบู่อ่อน ส่วนเสื้อผ้าให้นำไปซักก่อนนำมากลับมาใช้ใหม่ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
  • หากเข้าตา ให้รีบล้างออกจากตาโดยเร็ว ด้วยการรินน้ำอุ่นให้ไหลผ่านตาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที พร้อมเปิดเปลือกตาบนและล่างเป็นครั้งคราว หากยังมีอาการระคายเคืองอยู่ให้นำผู้ป่วยไปพบแพทย์
  • หากหายใจเข้าไป ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่สัมผัสมายังที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ ถ้ามีอาการรุนแรงให้ช่วยผายปอดและปั๊มหัวใจ  แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
  • หากกลืนหรือกินเข้าไป ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา ถ้ายังมีสติอยู่ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตามเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ หรือให้ดื่มน้ำนมตามเข้าไปหลังจากดื่มน้ำเข้าไปแล้ว ล้างบริเวณปากผู้ป่วย และให้บ้วนปากด้วยน้ำ รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด พร้อมด้วยภาชนะบรรจุและฉลากของผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ

การเก็บรักษา

ควรแยกเก็บไว้ในที่มิดชิด เป็นสัดส่วนห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง และอย่าเก็บรวมกับอาหารหรือวางปะปนกับอาหาร นอกจากนี้ควรจัดเก็บในบริเวณที่แห้งไกลจากความร้อน แสงแดด เปลวไฟ วัตถุหรือสารไวไฟ รวมถึงโลหะหนัก เนื่องจากกรดไฮโดรคลอริกสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะได้เป็นแก๊สไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ง่ายซึ่งทำให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิดได้ และเมื่อใช้หมดแล้วควรทิ้งหรือทำลายภาชนะบรรจุหรือทำลาย ห้ามนำมาใส่อาหารหรือของบริโภคอื่น 

การใช้ประโยชน์

Hydrochloric acid ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายประการคือ
  • การถลุงแร่ดีบุกและแทนทาลัม
  • การผลิตสารประกอบ chlorides, ปุ๋ย
  • ปฏิกิริยาเคมีในห้องปฏิบัติการ
  • ปฏิกิริยาการแตกสลายด้วยน้ำสำหรับแป้งและโปรตีนในการผลิตอาหาร หลายชนิด
  • กำจัดแผ่นสนิมในหม้อต้มน้ำทางอุตสาหกรรม (boiler)
  • ปรับความเป็นกรดด่างในเภสัชภัณฑ์ต่างๆ
  • ใช้ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นห้องน้ำ ฝาผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เหมาะสำหรับคราบสกปรกมาก และคราบฝังแน่น 
วิธีการใช้  (กรดไฮโดรคลอริก 15%)
  • สำหรับการทำความสะอาด พื้นห้องน้ำ ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (การผสมให้ค่อยๆ เทน้ำยาลงในน้ำ)
  •  สำหรับการทำความสะอาด โถส้วม ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:1
  • สำหรับการฆ่าเชื้อโรค หลังทำความสะอาดแล้ว ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 เทราดลงบนพื้นบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ห้ามเทน้ำลงในน้ำยาที่มีกรดไฮโดรคลอริก 


กรดไฮโดรคลอริกมีคุณสมบัติเป็นกรดแก่ ทำปฏิกิริยากับหินปูน (แคลเซียม) เกิดฟองฟู่ของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และสามารถกัดกร่อนโลหะได้เป็นอย่างดี จึงใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อขจัดคราบที่เกิดจากการตกตะกอนของอนุภาคโลหะซึ่งเป็นคราบขาวเทา หรือคราบสนิมสีส้ม ตามผนังและพื้นห้องน้ำได้ นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่าง กระเบื้อง และโถส้วม นอกจากนั้นอาจจะผสมกับกรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid) และสารลดแรงตึงผิวเช่น Nonylphenol, Linear Alkyl Benzene Sulfonate (LAS) เพื่อให้สารออกฤทธิ์สัมผัสกับพื้นผิวห้องน้ำได้ดีขึ้น และทำความสะอาดได้ทั่วถึงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามถ้าใช้ผลิตภัณฑ์สูตรนี้บ่อยๆ อาจทำให้ผิวหน้าของพื้นห้องน้ำค่อยๆ หลุดออก ซึ่งเมื่อใช้ไปเป็นเวลานานพื้นห้องน้ำอาจถูกกัดเซาะผิวหน้าทำให้ขรุขระไม่เรียบมัน และทำให้คราบสกปรกติดฝังแน่นตรงรอยหยาบของผิวกระเบื้องได้มากขึ้น โดยทั่วไประยะเวลาของการถูกกัดเซาะนั้นก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผิวกระเบื้องที่ใช้ปูพื้นด้วย

ที่มาข้อมูล

  • ศิลปากรมหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). สารเคมีในชีวิตประจำวัน (น้ำยาล้างห้องน้ำ). สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม, 2559,จากhttp://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d013.htm
  • สุชาตา ชินะจิตร.(2004). ภัยใกล้ตัว (น้ำยาล้างห้องน้ำ). สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=93
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (HYDROGEN CHLORIDE). สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม, 2559,จากhttp://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/8232/823249.htm

2 ความคิดเห็น: