เกลือแกง หรือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) เป็นสารเคมีธรรมชาติตัวหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องปรุงที่รับรองว่าทุกบ้านจะต้องมีติดครัวไว้เป็นประจำ ถือว่าเกลือแกงเป็นเครื่องปรุงหลักเลยก็ว่าได้ บางท่านอาจจะไม่คุ้นกับชื่อเกลือแกง แต่ถ้าบอกว่ามันก็คือเกลือที่เราใช้ประกอบอาหารกันทุกวัน ก็คงร้องอ๋อกันทุกคน เกลือแกงถูกนำมาใช้กันในหลายด้าน ทั้งด้านประกอบอาหาร ถนอมอาหาร รวมถึงใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมหลายประเภท
ที่มา : http://www.tips108.com/2015/06/blog-post_25.html
ก่อนจะเข้าครัวไปรู้จักกับเกลือแกง เรามาทำความรู้จักกับเจ้าเกลือแกง หรือถ้าเรียกในชื่อวิชาการคือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) กันก่อนนะคะว่าก่อนที่จะเกิดเป็นก้อนเกลือเม็ดขาวๆ เค็มๆ เจ้า NaCl เกิดมาได้อย่างไร
Sodium chloride
ชื่อ IUPAC : Sodium chloride
สูตรเคมี: NaCl
มวลโมเลกุล : 58.44 amu.
จุดหลอมเหลว: 801 °C
จุดเดือด: 1,413 °C
ความหนาแน่น: 2.16 g/cm3
การละลาย: ละลายในน้ำ,เมทานอล,กรดฟอร์มิก,กลีเซอรอล,โพรพิลีนไกลคอล,ฟอร์มาไมด์, แอมโมเนีย
มาตรการปฐมพยาบาลเมื่อเข้าตา: ชะล้างออกด้วยน้ำ
เมื่อกลืนกิน: ปรึกษาแพทย์หากรู้สึกไม่สบาย
การเกิดผลึกเกลือ
ผลึกเกลือ
ที่มา : https://kedwadee28276.wordpress.com/2012/09/24/59/
ผลึกเกลือมีลักษณะเป็นของแข็ง ใส ไม่มีสี
มีผลึกเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ เกลือเกิดจากโซเดียมไอออน (Na+) ไรด์ไอออน(Cl-)ที่มีการยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะทางเคมีที่เรียกว่า พันธะไอออนิก
(พันธะที่เกิดขึ้นจากแรงดึงดูดทางไฟฟ้าสถิตระหว่างไอออนบวกและไอออนลบ เนื่องจากมีการถ่ายโอนอิเล็กตรอน)
การเกิดพันธะไอออนิกของ NaCl
ที่มา : https://prezi.com/toserkydr7ez/chemical-bonding/
การเกิดพันธะไอออนิกของ NaCl
การเกิดไอออน
ไอออนบวก (Cation)
ไอออนบวกเกิดจากอะตอมของโลหะที่จะเสียอิเล็กตรอนไป
โดยจะมีจำนวนประจุเท่ากับจำนวนอิเล็กตรอนที่เสียไป
Na เป็นโลหะหมู่ 1A เมื่อเกิดเป็น Na+
มีประจุ +1 แสดงว่าอะตอมของโซเดียมสูญเสียอิเล็กตรอนไป 1 อิเล็กตรอน
ไอออนลบ (Anion)
ไอออนลบเกิดจากอะตอมของอโลหะที่จะรับอิเล็กตรอน
โดยจะมีจำนวนประจุเท่ากับจำนวนอิเล็กตรอนที่รับมา
Cl เป็นอโลหะหมู่ 7A เมื่อเกิดเป็น Cl-
มีประจุ -1 แสดงว่าอะตอมของคลอรีนรับอิเล็กตรอนมา 1 อิเล็กตรอน
จากรูป โลหะ Na เสียอิเล็กตรอนไป 1
อิเล็กตรอนกลายเป็นโซเดียมไอออน (Na+) อโลหะ Cl รับอิเล็กตรอน 1 อิเล็กตรอนกลายเป็น ( Cl-) เมื่อไอออนทั้งสองเข้ามาอยู่ใกล้กันจะเกิดแรงดึงดูดทางไฟฟ้าที่แข็งแรงระหว่างประจุไฟฟ้าตรงข้ามเหล่านั้น ทำให้ไอออนทั้งสองยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะเคมีที่เรียกว่า “พันธะไอออนิก” เกิดเป็นสารประกอบ NaCl
โครงผลึกของ NaCl
ที่มา : https://online.science.psu.edu/chem101_sp1/node/6301
ผลึกของ NaCl ในผลึก NaCl จะมี Na+ สลับกับ Cl- เป็นแถวๆทั้ง 3 มิติ
โดยแต่ละไอออนจะมีไอออนต่างชนิดล้อมรอบอยู่ 6 ไอออน ดังนี้ Na+ จะมีแรงดึงดูดกับ Cl- ที่ล้อมรอบอยู่ 6
ไอออน Cl- จะมีแรงดึงดูดกับ Na+ ที่ล้อมรอบอยู่ 6
ไอออนเช่นเดียวกัน
การจัดเรียงตัวของไอออนในสารประกอบไอออนิกทำให้เกิดโครงสร้างรูปทรง 3
มิติต่อไปเรื่อยๆไม่มีขอบเขตแน่นอน
ดังนั้นสารประกอบไอออนิกจะไม่มีสูตรของสารเดี่ยวๆเฉพาะตัวแต่จะเป็นสูตรของตัวแทนของทั้งโครงสร้าง
เรียกว่า สูตรเอมพิริคัล (Empirical
formulas) หรือสูตรอย่างง่ายเท่านั้น
ยกตัวอย่าง ผลึก Sodium
chloride จะมีอัตราส่วน Na+ : Cl- เป็น 6: 6 หรือ 1:1 ดังนั้น Sodium chloride จึงมีสูตรอย่างง่ายเป็น NaCl
คุณสมบัติของโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกง
เกลือแกงที่รู้จักคือโซเดียมคลอไรด์นั้นประกอบด้วยโซเดียม (Na) ร้อยละ 40 และคลอไรด์ (Cl) ร้อยละ 60 ตามน้ำหนักโดยประมาณ เกลือมีลักษณะเป็นผลึกใส ไม่มีสี ทรงลูกบาศก์มีความเป็นพิษต่ำ ละลายน้ำได้ดี มีรสเค็มจึงนำมาใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับอาหารได้ เกลือแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ- เกลือสมุทร
- เกลือสินเธาว์
การผลิตเกลือโซเดียมคลอไรด์
การผลิตเกลือสมุทร
ที่มา : http://samutsakhondla.go.th/travel/detail/71
เกลือสมุทรหรือเกลือทะเลนั้นได้มาจากน้ำทะเลโดยแหล่งผลิต เกลือสมุทรที่สำคัญของประเทศไทยก็คือจังหวัดที่อยู่ติดทะเล
เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ชลบุรี เป็นต้น
ไอออนต่างๆในน้ำทะเล
ในน้ำทะเลนั้นประกอบไปด้วยไอออนต่างๆ มากมาย หลายชนิดเช่น โซเดียมไอออน (Na+) ร้อยละ 31 คลอไรด์ไอออน (Cl-) ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 55 ซัลเฟตไอออน (SO42-) ร้อยละ 8 แมกนีเซียมไอออน (Mg2+)
ร้อยละ 4 แคลเซียมไอออน (Ca2+)
ร้อยละ 1 และ โพแทสเซียมไอออน (K+) อีกร้อยละ 1
การผลิตเกลือสมุทรก็คือการแยกเอาโซเดียมคลอไรด์ออกมาจากน้ำทะเลนั่นเอง
ช่วงเวลาการทำนาเกลือ
การทำเกลือสมุทรในประเทศไทยนั้นเรียกว่าการทำนาเกลือ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
ซึ่งถือว่าเป็นฤดูทำนาเกลือเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่มีฝนตกและมีอากาศร้อน
ขั้นตอนการทำนาเกลือ
ในการทำนาเกลือนั้นมีการแบ่งพื้นที่นาออกเป็นส่วนๆ ตามค่าความเค็มและค่าความถ่วงจำเพาะที่แตกต่างกัน ค่าความเค็มเป็นค่าที่บอกปริมาณของเกลือหรือไอออนชนิดต่างๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลโดยไอออนหลักที่ใช้
คือโซเดียมคลอไรด์ แมกนีเซียมและซัลเฟต เรานิยมบอกค่าความเค็ม เป็น ppth หรือ part per thousand ซึ่ง ก็คือส่วนในพันส่วน น้ำทะเลปกติทั่วไปมีค่าความเค็มอยู่ที่
35 ppth ส่วนค่าความถ่วงจำเพาะคือค่าความหนาแน่นของน้ำทะเลเมื่อเทียบกับความหนาแน่นของน้ำมีค่าเท่ากับ
1.026
ในการทำนาเกลือนั้นแบ่งออกเป็น นาวัง นาตาก นาเชื้อและนาปลง ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันไป
ขั้นตอนการทำนาเกลือ
ที่มา : http://nacl-chemistry5-4.blogspot.com/
ขั้นที่ 1
นำน้ำทะเลเข้าสู่นาวังหรือวังน้ำขัง ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้สิ่งเจือปนเช่น ฝุ่น ผงหรือตะกอนต่างๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเลตกตะกอนเสียก่อน
ขั้นที่ 2
หลังจากน้ำทะเลที่ขังไว้ในนาวังสะอาดแล้วก็ระบายน้ำเข้าสู่นาตาก
โดยระดับน้ำที่ระบายเข้ามาจะมีความสูงอยู่ที่ 5 เซนติเมตร
ชาวนาผู้ผลิตเกลือในบ้านเรานั้นจะปล่อยให้น้ำระเหยออกไปตามธรรมชาติโดยอาศัยลมและความร้อนจากแสงอาทิตย์
การที่น้ำทะเลระเหยออกไปนี้ ทำให้ค่าความเค็มและความถ่วงจาเพาะของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
ขั้นที่ 3
เมื่อน้ำทะเลมีความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ประมาณ 1.08 ก็จะระบายน้ำนี้เข้าสู่นาเชื้อ ในขณะที่น้ำทะเลอยู่ในนาเชื้อนั้น
จะมียิปซัมหรือแคลเซียมซัลเฟตตกผลึกออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแคลเซียมซัลเฟต ละลายน้ำได้น้อยจึงตกผลึกออกมาก่อน
ชาวนาเกลือสามารถนำยิปซัมไปขายเป็นสินค้าได้อีกด้วย
ขั้นที่ 4
เมื่อน้ำในนาเชื้อมีค่าความถ่วงจำเพาะสูงขึ้นจนเท่ากับ 1.20 ก็ระบายน้ำทะเลเข้าสู่นาปลง ในนาปลงนี้ เกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์จะเริ่มตกผลึกออกมาหลังจากทิ้งน้ำไว้ในนานี้นาน 2 วัน ยิ่งทิ้งไว้นานขึ้น เกลือแกงก็จะยิ่งตกผลึกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ขั้นที่ 5
หลังจากปล่อยให้เกลือแกงเกิดการตกผลึกไปเป็นระยะเวลา 9-10 วันก็ทำการขูดเกลือออกมาจากนาปลง
โดยการขูดเกลือออกมานั้นต้องขูดในขณะที่ยังมีน้ำทะเลท่วมอยู่เพื่อให้น้ำทะเลล้างดินโคลนที่ติดกับเกลือออกไป
ขั้นที่ 6
นำเกลือมากองรวมกันไว้ทิ้งไว้อีกประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้เกลือแห้ง
แล้วจึงเก็บเข้าฉางเพื่อรอจำหน่ายต่อไป การผลิตเกลือสมุทรจากน้ำทะเลนี้ นอกจากเกลือแล้ว ยังได้กุ้ง หอย ปู ปลาที่ติดมากับน้ำทะเล
รวมถึงยิปซัมในนาเชื้อเป็นผลพลอยได้อีกด้วย
การผลิตเกลือสินเธาว์
เกลือหิน
หรือ rock
salt นั้น พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม
อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร ชัยภูมิและหนองคาย
เกลือหินประกอบไปด้วยแร่หลักๆ
3
ชนิด คือ แร่เฮไลต์ (Halite) แร่คาร์นัลไลต์ (Carnallite) แร่ซิลไวต์ (Sylvite) ซึ่งแร่ที่สำคัญในการผลิตเกลือสินเธาว์ก็คือเฮไลต์
ซึ่งมีองค์ประกอบเคมีหลักเป็นโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) มีรูปผลึกเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์หรือคิวบิก
ใส ไม่มีสี แต่ถ้ามีสารอื่นเจือปนก็อาจมีสีได้ ส่วนแร่คาร์นัลไลต์ มีส่วนประกอบเป็นโพแทสเซียมคลอไรด์และแมกนีเซียมคลอไรด์
และแร่ซิลไวต์ มีองค์ประกอบทางเคมีคือโพแทสเซียมคลอไรด์
การเกิดเกลือหินนี้เกิดมาจากการตกตะกอนของน้ำทะเลที่ถูกขังเอาไว้อย่างยาวนาน
จึงเกิดออกมาเป็นชั้นของเกลือหิน เรียกว่า Salt beds หรือ Halite
beds ซึ่งอยู่ลึกลงไปที่ประมาณ 100 เมตรไปจนถึง
1500 เมตร
วิธีการผลิตเกลือสินเธาว์
วิธีการผลิตเกลือสินเธาว์จากแร่เกลือหินนั้น
มีวิธีการหลักๆ อยู่ทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน
วิธีการแรก เป็นการใช้เทคโนโลยีแบบชาวบ้าน
โดยการอัดอากาศลงไปตามท่อ เพื่อดันน้ำเกลือที่อยู่เหนือชั้นเกลือหินหรือโดมเกลือให้ขึ้นมาด้านบน
แล้วนำน้ำเกลือที่ได้ไปตากในนาเกลือ หรือทำการต้มเกลือให้ตกตะกอน วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ง่ายก็จริงแต่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างมหาศาลคล้ายกัน
เพราะวิธีนี้ทำให้ชั้นเกลือใต้ดินเกิดเป็นโพรงซึ่งจะทำให้เกิดการยุบตัวของดิน นอกจากนั้นน้ำเกลือที่สูบขึ้นมานี้
ยังทำให้เกิดเกลือปนเปื้อนบนพื้นดินและแหล่งน้ำ ทำให้ดินเค็ม ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย
วิธีที่สอง ในการผลิตเกลือสินเธาว์เป็นการทำแบบเหมืองละลายแร่
โดยมีหลักการเหมือนกับวิธีการแรก คือการนำน้ำอัดลงไปใต้ดินเพื่อละลายเกลือแล้วสูบขึ้นมาอีกทีหนึ่ง
การทำเหมืองละลายแร่นี้ หากชั้นเกลือใต้ดินอยู่ที่ระดับความลึกต่ำกว่า 200 เมตร จะส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดได้เช่นเดียวกัน ทางรัฐจึงอนุญาตให้ทำเหมืองละลายเกลือใต้ดินที่อยู่ลึกลงไปที่ไม่เกิน
200 เมตรเท่านั้นและต้องเหลือเกลือไว้ในชั้นเกลือหินประมาณร้อยละ
85-90 เพื่อค้ำยันพื้นดินด้วย หลังจากสูบน้ำเกลือขึ้นมาบนดินแล้ว
ต้องมีการอัดน้ำขมกลับลงไปในชั้นเกลือหินใต้ดินอีกด้วย
น้ำขม คือน้ำเกลือเข้มข้นที่ไม่สามารถทำให้ตกตะกอนได้
ประกอบด้วย แคลเซียม แมกนีเซียมคลอไรด์เป็นส่วนใหญ่ ที่เรียกว่าน้ำขม ก็เพราะแมกนีเซียมคลอไรด์นั้นมีรสขม
การฉีดน้ำขมกลับเข้าไปนี้ เพื่อทำให้น้ำขมไปตกตะกอนแทนที่เกลือในชั้นเกลือหิน ทำให้มีการคงรูปร่างของชั้นเกลือเอาไว้
จึงไม่เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน วิธีการผลิตเกลือสินเธาว์แบบเหมืองละลายแร่นี้ ต้องทำการตรวจวัดรูปร่างของชั้นเกลือเป็นระยะๆ
เพื่อป้องการการเสียรูปร่างของชั้นเกลือ
วีธีการที่สาม เป็นการทำเหมืองลงไปใต้ดิน
โดยขุดอุโมงค์ลงไปในชั้นเกลือแล้วทำการเจาะหรือระเบิดเพื่อนำเกลือหินขึ้นมา วิธีการนี้
มีการเติมน้ำขมใส่กลับลงไปแทนที่ เพื่อให้ตกผลึกแทนเกลือหินที่ขุดออกมาเช่นกัน เมื่อได้เกลือหินออกมาแล้วก็ทำการบดและละลายน้ำ
แล้วนำสารละลายที่ได้มาต้มด้วยหม้อต้มลดความดันซึ่งทำให้น้ำเดือดและระเหยได้เร็วขึ้นจนได้เกลือบริสุทธิ์
ผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีนี้คือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ผลกระทบของการผลิตเกลือต่อสิ่งแวดล้อม
- การผลิตเกลือนั้นดูเป็นการผลิตแบบง่ายๆ
แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด หากทำอย่างผิดวิธี การทำเกลือสินเธาว์จึงต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างของชั้นเกลือหินที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินอยู่เสมอ
เพื่อป้องกันดินทรุดตัว ซึ่งปัจจุบันวิธีที่ใช้กันมากที่สุดก็คือการทำแบบเหมืองละลายแร่
- น้ำเกลือยังทำให้เกิดการปนเปื้อนของเกลือลงในแหล่งดินและแหล่งน้ำ
ทำให้ดินเค็ม ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย
- การทำเกลือสมุทรนั้น บริเวณพื้นที่ที่ทำเกลือสมุทรนานๆ
จะสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไป จึงยากแก่การทำการเพาะปลูกในพื้นที่บริเวณนั้นอีกครั้ง
หลักการในการตกผลึกเกลือ
การผลิตเม็ดเกลือแกง
หรือ โซเดียมคลอไรด์ จากน้ำทะเลนั้น อาศัยหลักการที่เรียกว่า “การตกผลึก” (Crystallization) เป็นกระบวนการทางเคมีที่ใช้ในการทำสารให้บริสุทธิ์
ด้วยการแยกของแข็งออกจากของเหลว โดย อาศัยความสามารถในการละลายน้ำหรือจุดอิ่มตัวของสารประกอบที่เมื่ออุณหภูมิลดลง
ความสามารถในการละลายก็ลดลง สารประกอบเหล่านั้นจะแยกตัวออกจากสารละลายเป็นของแข็งที่มีรูปทรงเรขาคณิต
เรียกว่า ผลึก (crystal) ทั้งนี้สารที่ต้องการแยกและไม่ต้องการแยกจะต้องละลายได้ในตัวทำละลายชนิดเดียวกัน
แต่ต้องมีความสามารถในการละลายต่างกัน
ส่วนประกอบในน้ำทะเลประกอบด้วย
โซเดียมไอออน (Na+)
คลอไรด์ไอออน (Cl-) แมกนีเซียมไอออน
(Mg2+) และแคลเซียมไอออน (Ca2+)
นอกจากนั้นแล้วยังมีซัลเฟตไอออน (SO42-)
อีกด้วย น้ำที่ได้จากการละลายเกลือหินก็ประกอบไปด้วยไอออนประเภทเดียวกัน
แต่มีปริมาณของไออนแต่ละชนิดไม่เท่ากัน
หลักการของการแยกไอออนพวกนี้ใช้หลักของการละลาย
คือเมื่อสารใดละลายได้น้อยก็จะตกผลึกได้มาก แต่สารใดละลายได้มากก็จะตกผลึกได้น้อย เมื่อพิจารณาการละลายของสารที่อุณหภูมิต่างๆ
ของสารที่สามารถตกผลึกได้จากน้ำเกลือ คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCl2) โพแทสเซียมคลอไรด์
(KCl) แมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4) และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO4)
เนื่องจากประเทศของเราเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน
จะเห็นว่าสารที่ตกผลึกลงมาก่อนคือแคลเซียมซัลเฟต เนื่องจากมีความสามารถในการละลายต่ำมาก
จากนั้นโซเดียมคลอไรด์มีความสามารถในการละลายน้ำได้น้อยรองลงมาจะตกผลึกออกมาตามลำดับ
เราก็จะได้เกลือแกงออกมานั่นเอง
ทำความรู้จักกับสารที่ตกผลึกจากการทำนาเกลือ
เกลือจืดหรือยิปซัม (CaSO4)
เป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้น้อยที่สุด
จะมีการตกผลึกในนาเชื้อซึ่งมีความเค็มประมาณ 20-25 ดีกรี
ผลึกเกลือจะมีลักษณะเป็นผลึกสี่เหลี่ยม ใส ขนาดเล็กๆ
เกาะตัวเป็นแผ่นแข็งอยู่ติดกับดินชาวนาเกลือนิยมนำเกลือจืดไปใช้ทำแป้งดินสอพอง
ชอล์กเขียนกระดานดำ หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำยาสีฟัน เป็นต้น
Ca2+(aq) + SO42-(aq) ------> CaSO4(s)
เกลือแกง (NaCl)
ตกผลึกในนาปลง
เป็นช่วงที่น้ำทะเลมีความเค็มที่ระดับ 25 ดีกรี มีลักษณะเป็นลูกบาศก์
โปร่ง แสง โดยเม็ดเกลือแกง จะมี 2 เพศ คือ เกลือตัวผู้ รูปร่างเป็นเม็ดยาวแหลม นิยมใช้ผสมยาไว้กวาดคอเด็ก เชื่อว่ามีฤทธิ์แก้ ซาง (ไข้,ตัวร้อน) ได้ และเกลือตัวเมีย
มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมใช้ประโยชน์ได้ทั้งสำหรับการบริโภค ดองอาหาร รวมถึงเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ
Na+(aq) + Cl-(aq) ----->NaCl(s)
ดีเกลือ (MgSO4)
เป็นเกลือที่มีรสเค็มจัดจนขม เกลือชนิดนี้จะตกผลึกที่ระดับความเค็ม มากกว่า
27 ดีกรี ขึ้นไป ลักษณะจะมีรูปร่างแหลมเหมือนเข็ม ชาวนาเกลือจะไม่ชอบเพราะหากปล่อยนาปลงให้มีระดับความเค็มมากจนดีเกลือมีการตกผลึก ก็จะมีผลให้เกลือแกงที่ได้ไม่บริสุทธิ์
มีคุณภาพ ต่ำ ชื้นง่าย ซึ่งชาวนาเกลือจะป้องกันด้วยการผันน้ำจากนาเชื้อสู่นาปลงอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้มีความเค็มที่ไม่มากเกินไป อย่างไรก็ตามดีเกลือก็มีสรรพคุณทางยา โดยใช้เป็นยาระบาย
แก้ท้องผูก หรือเป็นยาถ่ายพยาธิได้
Mg2+(aq) + SO42-(aq) ------> MgSO4(s)
การควบคุมคุณภาพของการผลิตเกลือ
เราใช้หลักในการละลายและการตกผลึกนี้เองในการควบคุมคุณภาพของการผลิตเกลือสมุทร
เช่น การระบายน้ำทะเลจากนาเชื้อเข้าสู่นาปลงตลอดเวลาเพื่อไม่ให้น้ำทะลมีความเข้มข้นสูงเกินไป
เป็นการป้องกันไม่ให้เกลือแมกนีเซียมอย่างแมกนีเซียมคลอไรด์และแมกนีเซียมซัลเฟตซึ่งละลายน้ำได้ดีกว่าโซเดียมคลอไรด์ตกผลึกลงมาปนกับโซเดียมคลอไรด์
ซึ่งจะทำให้เกลือมีความบริสุทธิ์ต่ำ
การควบคุมคุณภาพของการผลิตเกลือแกงที่ทำได้อีกวิธี
คือ การกำจัดแมกนีเซียมไอออนออกไป โดยการทำให้น้ำทะเลก่อนที่จะเข้าสู่นาปลงเป็นเบสด้วยการเติมปูนขาวหรือแคลเซียมออกไซด์ลงไป
แมกนีเซียมจะตกผลึกออกมาเป็นแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ทำให้น้ำที่เข้าสู่นาปลงมีแมกนีเซียมไอออนลดลง
จึงได้เกลือแกงที่บริสุทธิ์สูง
วิธีสุดท้ายคือทำการควบคุมอุณหภูมิและความเข้มข้นของน้ำทะเลเพื่อไม่ให้เกลือตกผลึกเร็วเกินไป
ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป เกลือจะละลายได้มาก ทำให้น้ำทะเลมีความเข้มข้นสูง โดยไม่ตกผลึก
แต่เมื่ออุณหภูมิลดลงในตอนกลางคืน เกลือจะตกผลึกลงมาอย่างรวดเร็ว และมีน้ำแทรกอยู่ระหว่างชั้นของผลึกเกลือ
ทำให้เกลือมีความชื้นสูง ดังนั้นจึงต้องควมคุมปริมาณน้ำในนาปลงเอาไว้ที่ 5 เซนติเมตรตลอดเวลาเพื่อควบคุมความเข้มข้นของน้าทะเล
การใช้ประโยชน์ของเกลือ
คุณประโยชน์จาก เม็ดเกลือ ที่นอกจากการเป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่บริโภคกันอยู่เป็น
ประจำแล้ว ความเค็มของเกลือยังมีคุณค่าอีกมากมายหลายประการ ได้แก่
บริโภค
องค์ประกอบโดยรวมแล้ว
เกลือที่ได้ออกมาไม่ว่าจะเป็นเกลือสมุทรหรือเกลือสินเธาว์ก็คือโซเดียมคลอดไรด์เหมือนๆ
กัน แต่ว่าเกลือสมุทรนั้นจะมีสารพวกไอโอดีนปนอยู่มากกว่าเกลือสินเธาว์ ทำให้เหมาะแก่การไปใช้บริโภค
หากจะนำเกลือสินเธาว์ไปบริโภคจะต้องเติมสารประกอบไอโอดีนในรูปของไอโอไดด์หรือไอโอเดตเข้าไปเสียก่อน
เพราะว่าไอโอดีนเป็นสารที่จำเป็นในการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต
หากขาดไอโอดีนจะมีผลทำให้เป็นโรคคอหอยพอก หากหญิงที่ตั้งครรภ์ได้รับไอโดดีนไม่เพียงพอ
จะทำให้บุตรที่เกิดมาเป็นโรคต่อมธัยรอยด์บกพร่องหรือโรคเอ๋อได้
คนไทยในพื้นที่ที่ห่างไกลทะเลประสบปัญหาเรื่องการขาดธาตุไอโอดีนกันมาก
เนื่องจากเกลือเป็นเครื่องปรุงรสที่สำคัญ จึงเติมไอโอดีนลงไปในเกลือเพื่อป้องกันปัญหานี้
เกลือที่ใช้ในการบริโภคนั้นเป็นอาหารที่ต้องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน
กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ใน ปี พ.ศ. 2554 ว่าเกลือบริโภคต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 20 มิลลิกรัม
และไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม
ถนอมอาหาร
มีการใช้เกลือสำหรับดองผัก ผลไม้ ไข่
หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ เพื่อยืดอายุในการ รับประทานได้นานขึ้น ซึ่งเกลือจะเข้าไปช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่จะทำให้
เกิดอาการเน่าเสีย
อุตสาหกรรมห้องเย็น
มีการนำเกลือมาใช้รักษาอาหารสดมานานแล้ว เนื่องจากคุณสมบัติของเกลือ
หากมีการเติมเกลือแกงลงในน้ำแข็งในอัตราส่วน 1:3 จะมีผลให้ จุดเยือกแข็งของน้ำลดลงถึง
-18 องศาเซลเซียส
อุตสาหกรรมเคมี
เกลือถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์หลายชนิด
เช่น ผลิตคลอรีน โซดาไฟ กรดเกลือ เป็นต้น
อุตสาหกรรมความงาม
ในธุรกิจสปามีการนำเกลือไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม
อาทิ เกลือขัดผิว เกลือสปา เกลือหอม เนื่องจากเกลือมีสรรพคุณในการเปิดรูขุมขนบริเวณผิวหนัง
ทำให้วิตามินและสารบำรุงต่างๆ ซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น
ยา
ในตำราแพทย์แผนไทย เกลือ ถือเป็นยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมากมาย
ทั้งในการฆ่า เชื้อ แก้ปวดฟัน ที่สำคัญในเกลือยังมีสารประกอบไอโอดีนที่ช่วยป้องกันโรคคอพอกได้อีกด้วย
ที่มาข้อมูล :
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). เอกสารข้อมูลความปลอดภัย. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/1593/159302.htm
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ม.ป.ป.).เกลือ คุณค่าที่มากกว่าความเค็ม. http://nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/45.pdf
- ณรงค์ศักดิ์ ขุนรักษา และเสาวรักษ์ เฟื่องสวัสดิ์. (ม.ป.ป.).ธาตุและสารประกอบอุตสาหกรรม ตอน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโซเดียมคลอไรด. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม, 2559, จาก http://www.phukhieo.ac.th/obec-media/2555/manual/%A4%D9%E8%C1%D7%CD%E0%A4%C1%D5/57_%CD%D8%B5%CA%D2%CB%A1%C3%C3%C1%B7%D5%E8%E0%A1%D5%E8%C2%C7%A1%D1%BA%E2%AB%E0%B4%D5%C2%C1%A4%C5%CD%E4%C3%B4%EC%20%E0%A1%C5%D7%CD.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น