วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สารเคมีในห้องน้ำ : ยาสีฟัน

ที่มา : http://www.clipmass.com/story/104453
ยาสีฟันถือเป็นของใช้จำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน เราต้องใช้ยาสีฟันตั้งแต่ตื่นนอนเลยก็ว่าได้ เราใช้ยาสีฟันเพื่อทำความสะอาดฟัน ลดกลิ่นปาก ขจัดคราบหินปูน ฯลฯ ในปัจจุบันมีผู้ผลิตยาสีฟันหลากหลายยี่ห้อ เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลาก หลายมากขึ้น

ความหมายของยาสีฟัน


ยาสีฟัน คือ สารที่ช่วยในการทำความสะอาดฟัน ใช้ร่วมกับการแปรงฟัน หากแปรงฟันโดยไม่ใช้ยาสีฟัน อาจทำให้ขาดความรู้สึกสดชื่นหลังการแปรงฟัน

กำเนิดยาสีฟัน


ยาสีฟันถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณ ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนผสม ได้แก่ เกลือป่น พริกไทยป่น ใบมินต์ และดอกไม้ต่างๆ นำมาผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นชาวโรมันได้คิดค้นสูตรยาสีฟันขึ้นมาใหม่ซึ่งจะใช้ปัสสาวะของมนุษย์เป็นส่วนผสมหลัก เนื่องจากชาวโรมันเชื่อว่าแอมโมเนียที่อยู่ในปัสสาวะจะช่วยให้ฟันขาวสะอาดขึ้น กระแสความนิยมของยาสีฟันเริ่มมีมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 คนส่วนใหญ่จะใช้ยาสีฟันที่ทำขึ้นเอง ซึ่งโดยมากทำจากผงชอล์ค ผงอิฐ เกลือ และผงถ่าน ในปี ค.ศ.1900 ได้เริ่มมีการผลิตยาสีฟันแบบเหลวที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และเบกกิงโซดา และในปี ค.ศ.1914 เริ่มมีการเติมฟลูออไรด์ในยาสีฟัน แต่ยังไม่มีการรับรองถึงประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุจากสมาคมทันตกรรมของอเมริกา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1950 บริษัท Procter & Gamble ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุของยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และได้การรับรองจากสมาคมทันตกรรมอเมริกา

วัตถุประสงค์ของการใช้ยาสีฟัน


ช่วยให้การทำความสะอาดฟันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยช่วยในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ เศษอาหาร และคราบสะสมต่าง ๆ บนตัวฟัน รวมทั้งบนลิ้นและเหงือกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันฟันผุ เหงือกอักเสบ ลดอาการเสียวฟัน หรือขัดคราบบุหรี่ ช่วยให้ฟันขาวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนประกอบพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปในในยาสีฟัน

องค์ประกอบหลักของยาสีฟัน

  1. ผงขัด (abrasives) เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ช่วยในการขัดผิวฟัน โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวฟัน แต่ทำให้เกิดพื้นผิวที่เรียบ ซึ่งจะช่วยทำให้การเกิดคราบสะสมบนตัวฟันช้าลง ปัจจัยที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับผงขัด ได้แก่ ความแข็งของผงขัด ขนาดของอนุภาค และรูปร่างของอนุภาค
  2. สารที่ทำให้เกิดฟอง (detergents) เป็นสารที่ช่วยลดแรงตึงผิว สามารถแทรกซึมและทำให้สิ่งที่เกาะบนผิวฟันหลุดลอกออก ง่ายต่อการกำจัดด้วยแปรงสีฟัน ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำปฏิกิริยาได้แม้ในสภาพที่เป็นกรดหรือด่าง และมีความคงตัว
  3. สารที่ทำให้เกิดการรวมตัว (binder หรือ thickeners) เป็นสารที่ป้องกันการแยกตัวขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นของแข็งออกจากของเหลว ในช่วงที่เก็บรักษา ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย มีความคงตัวและเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ในยาสีฟันได้
  4. สารรักษาความชื้น (humectant) เป็นสารที่ช่วยรักษาความอ่อนนุ่มของยาสีฟัน ป้องกันการแข็งตัวขณะที่สัมผัสอากาศ ช่วยในการคงตัวของยาสีฟัน ไม่มีพิษต่อร่างกาย
  5. สารกันบูด (preservation) เป็นสารที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
  6. สารแต่งสี (coloring agents) เป็นสีที่เติมเข้าไปในยาสีฟัน ทำให้มีความน่าใช้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติดสีบนตัวฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก และไม่ทำให้วัสดุบูรณะเปลี่ยนสีไป สารที่ใช้ ได้แก่ สีที่ได้จากพืช
  7. สารแต่งกลิ่น (flavoring agents) เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีกลิ่นหอม เพิ่มความน่าใช้ และกลบกลิ่นของสารอื่นที่ไม่พึงประสงค์ในยาสีฟัน ไม่ควรมีกลิ่นเปลี่ยนไปในระหว่างขั้นตอนการผลิตและในขณะเก็บ รวมทั้งควรเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ของยาสีฟันได้
  8. สารให้ความหวาน (sweeteners) เป็นสารที่ให้ยาสีฟันมีรสหวาน เพื่อให้ผู้ใช้พึงพอใจ ยาสีฟันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟันสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ จะถูกปรุงแต่งให้มีรสหวานแต่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ เนื่องจากสารที่ให้ความหวานที่ผสมลงไป มักเป็นสารสังเคราะห์ หรือสารที่ได้จากธรรมชาติที่ไม่ทำให้เกิดฟันผุ เช่น ซอร์บิทอล (sorbitol) กลีเซอรอล (glycerol) และไซลิทอล (xylitol) เป็นต้น
ปัจจุบันนี้แบ่งยาสีฟันออกเป็นหลายประเภท ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่
  1. ยาสีฟันสำหรับป้องกันฟันผุ ยาสีฟันประเภทนี้มีส่วนผสมที่สำคัญ คือ ฟลูออไรด์ ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่สามารถยับยั้งฟันผุได้ดี คือ 1000 ส่วนในล้านส่วน (1000 ppm)
  2. ยาสีฟันที่ลดการสะสมคราบจุลินทรีย์และลดการอักเสบของเหงือก ยาสีฟันชนิดนี้มักมีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งจุลชีพผสมอยู่ ได้แก่ สารสกัดจากพืชสมุนไพรหรือน้ำมันระเหยได้จากพืช (essential oil) และ ไตรโคลซาน (triclosan) เป็นต้น
  3. ยาสีฟันที่ใช้ลดอาการเสียวฟัน ส่วนผสมที่สำคัญในยาสีฟันประเภทนี้ ได้แก่ โปแทสเซียม (potassium) สตรอนเทียม (strontium) และ ฟลูออไรด์ เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเสียวฟัน เนื่องจากผู้ที่มีอาการเสียวฟันมักจะละเว้นการแปรงฟันในบริเวณที่เสียวฟัน อันจะนำไปสู่การสะสมคราบจุลินทรีย์ และก่อให้เกิดโรคต่อไป
  4. ยาสีฟันที่ช่วยยับยั้งการเกิดหินน้ำลายหรือหินปูน เป็นยาสีฟันที่มีสารที่ช่วยลดการสร้างผลึกแคลเซียมฟอสเฟตในคราบจุลินทรีย์ เช่น เกลือไพโรฟอสเฟต (pyrophosphate salt) เกลือของซิงค์ (zinc salt) เช่น ซิงค์คลอไรด์ (zinc chloride) หรือ ซิงค์ไนเตรท(zinc citrate) เป็นต้น
  5. ยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาว เป็นยาสีฟันที่ผสมสารที่ฟอกสีหรือขจัดคราบสีบนตัวฟันได้ เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) และ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogenperoxide) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารพวกซิลิกา (silica) และเซอร์โคเนียม (zirconium) ซึ่งเป็นผงขัดที่หยาบช่วยขัดฟันได้ รวมทั้งสารพวกโพลีไวนิลไพโรลิโดน (polyvinyl pyrrolidone) หรือ พีวีพี คอมเพล็กซ์ (PVP complex) ที่ทำให้คราบต่าง ๆ เช่น คราบบุหรี่ ที่ติดบนตัวฟันละลายน้ำได้ดีขึ้น ทำให้ถูกกำจัดออกได้ง่าย
  6. ยาสีฟันสมุนไพร เป็นยาสีฟันที่มีองค์ประกอบเป็นสารสกัดจากพืชธรรมชาติ มักออกฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียในช่องปากได้ จึงลดอาการเหงือกอักเสบลงได้
ยาสีฟันที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มีหลายรูปแบบ ได้แก่

  1. ยาสีฟันชนิดผง ยาสีฟันแบบนี้มีขนาดของผงขัดที่ค่อนข้างหยาบ หากใช้ร่วมกับการแปรงฟันที่ผิดวิธี เช่น การแปรงแบบถูไปมาในแนวนอน อาจทำให้คอฟันสึกได้
  2. ยาสีฟันชนิดครีม เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด มีขนาดของผงขัดที่พอดี สามารถขจัดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟันได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสึกของเคลือบฟัน
  3. ยาสีฟันชนิดเจล ยาสีฟันแบบนี้มีขนาดของผงขัดที่ละเอียดกว่าแบบครีม เหมาะกับผู้ที่มีภาวะเสียวฟัน

การเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เหงือก และช่องปาก มีหลักง่ายๆคือใช้แล้วฟันสะอาด ไม่มีอาการแพ้ ส่วนการเลือกยาสีฟันสำหรับผู้ที่มีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับฟัน เหงือก และช่องปาก ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนประกอบของสารที่มีสมบัติรักษาโรคได้ตามอาการ ซึ่งยาสีฟันอาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากอาการยังไม่หาย ควรจะพบทันตแพทย์เพื่อปรึกษา รักษาอาการนั้นๆ เนื่องจากพวกสารป้องกัน และรักษาโรคในช่องปาก ที่เพิ่มเข้าไปในยาสีฟันแล้ว โฆษณาสรรพคุณต่างๆ นั้นวงการทันตแพทย์ยังไม่ได้ยอมรับว่าทุกตัวได้ผลดีจริง
อาการที่พบโดยทั่วไปและมีสารที่ผสมลงในยาสีฟันเพื่อรักษานั้นแบ่งได้เป็นสองกลุ่มอาการใหญ่ๆ ดังนี้
อาการฟันผุ
ส่วนประกอบในยาสีฟันที่มีผลต่อการป้องกันฟันผุคือฟลูออไรด์ ซึ่งในวงการทันตแพทย์ถือว่าฟลูออไรด์เป็นสารมหัศจรรย์สำหรับสุขภาพช่องปาก ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้จริงโดยฟลูออไรด์ไอออนจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารเคลือบฟันได้สารตัวใหม่ที่ทำหน้าที่เคลือบฟันได้ดีกว่า เพราะมีความทนต่อกรดที่เกิดจากอาหารที่ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในช่องปากได้ดีกว่า ฟลูออไรด์จัดเป็นสารควบคุมพิเศษ เพราะหากฟันได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ฟันอาจตกกระได้ และที่สำคัญหากรับประทานฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก จะทำให้ปวดท้อง ชาในปาก คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นยาสีฟันที่เติมฟลูออไรด์จึงจัดเป็น เครื่องสำอางควบคุมพิเศษซึ่งผู้ผลิตต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และระบุไว้ที่ข้างกล่องยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ยาสีฟันเกือบทุกยี่ห้อในท้องตลาดมีฟลูออไรด์ไอออนหรือที่เรียกว่าแอคทีฟฟลูออไรด์ผสมอยู่ประมาณ 1000 พีพีเอ็ม (ppm) ยาสีฟันสำหรับเด็กจะมีปริมาณฟลูออไรด์ประมาณ 500 พีพีเอ็ม นอกจากฟลูออไรด์แล้วสารที่ช่วยป้องกันฟันผุอีกประเภทหนึ่ง คือ สารลดเชื้อต่อต้านแบคทีเรีย ซึ่งทำให้ช่วยลดการอักเสบของเหงือกด้วย สารตัวที่มีเอกสารอ้างอิงว่าค่อนข้างมีความปลอดภัยในการใช้ ได้แก่ สารไตรโคซาน โดยถ้าผสมกับ พีวีเอ็ม/เอ็มเอ โคโพลีเมอร์ หรือ ซิงค์ซิเตรท จะเสริมฤทธิ์กัน ทำให้สารนี้คงตัวอยู่ในช่องปากได้นาน 
อาการเสียวฟัน

มีสาเหตุจากอะไรนั้นยังไม่ทราบชัดเจนแต่มักพบเสมอในฟันสึก และฟันผุ แต่ก็ไม่มีความสัมพันธ์กันมากนัก มีรายงานว่าบางครั้งฟันที่ผุสึกในบางคนก็ไม่มีอาการเสียว แต่ในบางคนการมีฟันสึกเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกเสียวมาก โดยเฉพาะที่คอฟัน อาการเสียวเนื่องจากเหงือกร่นพบบ่อยในผู้สูงอายุและในผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบที่มีชื่อเรียกว่าโรคปริทันต์หรือโรครำมะนาด สารที่ใส่ลงในยาสีฟันเพื่อลดอาการเสียวฟันคือ สตรอนเชียมคลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท โดยสารนี้จะเข้าไปบล็อกระบบประสาทไม่ให้ส่งความรู้สึกเสียวฟันไปยังสมอง ยาสีฟันที่พบว่ามีสตรอนเตรียม คลอไรด์ คือ เซ็นโซดายน์สีแดงสูตรดั้งเดิม ส่วนเซ็นโซดายน์สีเขียวและสีฟ้าจะมีโพแทสเซียมไนเตรท อีโมฟอร์ม และออรัล-บี เซนซิทีฟ มีโพแทสเซียมไนเตรทเป็นส่วนผสมเช่นกัน การรักษาอาการฟันสึกหรือฟันผุบางครั้งก็ช่วยให้อาการเสียวฟันหายไปได้
นอกจากกลุ่มยาสีฟันที่มีสารช่วยรักษาหรือป้องกันโรคฟันและเหงือก ยังมียาสีฟันอีกกลุ่มที่เน้นการเติมสารที่ช่วยในการทำให้ฟันขาวขึ้น โดยการขัดคราบสีฟันที่เกิดจากการดื่ม ชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ ออกทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น ยาสีฟันในกลุ่มนี้จึงเน้นไปที่ผงขัดฟันที่มีความหยาบกว่าปกติ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมสำหรับยาสีฟันกลุ่มนี้ว่า คราบหินปูนไม่สามารถขจัดออกได้โดยการแปรงฟัน สารในยาสีฟันกลุ่มนี้ไดแก่ โซเดียมไพโรฟอสเฟตซึ่งช่วยชะลอหรือลดการเกิดหินปูนได้ แต่การเอาคราบหินปูนออกต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อใช้เครื่องมือขูดออกเท่านั้น การทำให้ฟันขาวขึ้นอีกวิธีหนึ่ง คือ การฟอกสีฟัน โดยเติมสารที่มีฤทธิ์ในการฟอกสีลงในยาสีฟัน เช่น คาร์บาไมค์เปอร์ออกไซด์ แต่โอกาสที่สารเปอร์ออกไซด์จะก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองต่อเหงือกมีได้สูง จึงควรระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้สักหน่อย
ปัญหาจากการใช้ยาสีฟันที่อาจพบได้คือ การแพ้ยาสีฟัน เยื่ออ่อนในช่องปากจะเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง บางรายอาจมีอาการบวมแดงที่ริมฝีปาก ปากจะดำและลอก สาเหตุเกิดจากการแพ้สารบางตัวในยาสีฟัน เช่น บางคนจะแพ้เมนทอล ซึ่งเป็นสารแต่งกลิ่นและรสยาสีฟัน หรืออาจจะแพ้ฟลูออไรด์ในยาสีฟัน วิธีแก้ไขก็คือ เปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันยี่ห้ออื่น ยาสีฟันสมุนไพรไทย(โดยเฉพาะคนที่คิดว่าแพ้ฟลูออไรด์) หรือยาสีฟันเด็ก และใช้เกลือช่วยในการกลั้วคอบ้วนปาก การใช้ยาสีฟันที่เน้นการขจัดคราบ ซึ่งจะมีผงขัดที่หยาบมาก ก็อาจจะเกิดปัญหาทำให้ฟันสึกได้ และอาจมีอาการเสียวฟันตามมา จึงไม่ควรใช้ทุกวัน เช่นเดียวกันกับการใช้ยาสีฟันที่เป็นผง ฟันจะมีโอกาสสึกได้มากกว่าแบบที่เป็นครีมหรือเจล ยาสีฟันบางชนิดผสมสมุนไพร มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานทำให้เหงือกดูเหมือนแน่นขึ้น ซึ่งต้องระวังในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ ซึ่งอาจมีหินปูนอยู่ใต้เหงือก ยังไม่ได้ขูดออก อาจมีการติดเชื้อใต้เหงือกเกิดขึ้นได้
จากข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลที่เป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาสีฟันที่ถูกใจ อาจมีมากกว่าหนึ่งยี่ห้อใช้สลับกันก็ได้ เช่น ถ้ามีอาการเสียวฟันอาจใช้ยาสีฟันที่แก้การเสียวฟันโดยเฉพาะ และเมื่อหมดอาการแล้วก็กลับมาใช้ยาสีฟันชนิดธรรมดา ซึ่งจะทำให้ประหยัดทรัพย์ในกระเป๋าด้วย เพราะยาสีฟันที่มีการเน้นจุดขายที่แตกต่าง เช่น ขจัดคราบบุหรี่ ลดการเสียวฟัน ผสมสารพิเศษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ยาสีฟันเหล่านี้มักมีราคาสูงกว่ายาสีฟันทั่วไป การใช้ยาสีฟันสมุนไพรไทย นอกจากราคาไม่สูงมากแล้ว ยังถือเป็นการอุดหนุนคนไทย ใช้ของไทย เงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/84358


ที่มาของข้อมูล :
  • สุชญา ผ่องใส. (2559). ยาสีฟัน. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=6698
  • ทพญ. สาครรัตน์ คงขุนเทียน.(2552). หลายคำถามกับยาสีฟัน. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม, 2559,จาก http://www.dentalcouncil.or.th/content/people/detail.php?type=6&id=159

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น